แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฟ้องบรรยายว่าจำเลยทำผิดในวันใดวันหนึ่งแน่นอน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้อ้างฐานที่อยู่ ครั้นเมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว โจทก์ขอแก้ฟ้องเป็นว่า เมื่อระหว่างวันหนึ่งถึงอีกวันหนึ่ง วันเวลาใดไม่ปรากฎชัดจำเลยได้กระทำผิด ดังนี้ ไม่ใช่เป็นการขอเพิ่มเติม แต่เป็นการขอแก้รายละเอียดซึ่งต้องแถลงในฟ้องตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 158(5),164 เมื่อจำเลยปฏิเสธฟ้องเดิมและได้ต่อสู้คดีในการสืบพยานโจทก์ตลอดมาจนหมดพยาน จึงถือได้ว่าจำเลยได้หลงต่อสู้คดีไปตามที่โจทก์ฟ้องผิดวันนั้นแล้ว ควรต้องยกคำร้องขอแก้ฟ้องนั้นและถือตามฟ้องเดิม
ดังนั้น เมื่อโจทก์นำสืบว่าจำเลยกระทำผิดก่อนวันตามฟ้องเดิมถึง 2 วัน ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการพิจารณา จึงต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสำคัญ ชอบที่จะยกฟ้องเสียตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 192
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒-๓-๔ ใช้จ้างวานจำเลยที่ ๑ ยิงนายมิน แต่จำเลยที่ ๑ ยิงไม่ถูกอวัยวะสำคัญนายมินจึงไม่ตาย จำเลยปฏิเสธ เมื่อสืบพยานโจทก์ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมฟ้องเดิม ซึ่งมีข้อความว่า “โดยจำเลยที่ ๒-๓-๔ เป็นตัวการใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ยิงนายมิน สุวรรณทนงชัย” เป็น “โดยเมื่อระหว่างวันที่ ๓ พ.ย. ๒๔๙๘ ถึงวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ วันเวลาใดในสำนวนสอบสวนไม่ปรากฎชัด จำเลยที่ ๒-๓-๔ เป็นตัวการใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ยิงนายมิน สุวรรณทนงชัย”
ศาลจังหวัดสั่งคำร้องของโจทก์ว่า “คำร้องของโจทก์มีเหตุสมควร และจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้จึงอนุญาตให้โจทก์เพิ่มเติมฟ้องได้ตามขอ” เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว พิพากษาว่าสำหรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ พยานโจทก์ไม่พอฟังลงโทษ ให้ยกฟ้อง ส่วนจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๔ ผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญา ม. ๒๔๙,๖๐ ลดแล้วคงจำคุกคนละ ๖ ปี ๘ เดือน
จำเลยที่ ๑ และที่ ๔อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่โจทก์ร้องขอเพิ่มเติมวันเวลาที่หาว่าจำเลยที่ ๒-๓-๔ กระทำผิดนั้นไม่มีเหตุอันควรจะให้เพิ่มเติมได้จึงไม่อนุญาตให้แก้และเห็นว่าคดีนี้หลักฐานพยานโจทก์เป็นที่สงสัย จึงพิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยที่ ๑ และที่ ๔
ศาลฎีกาเห็นว่า
ฟ้องของโจทก์พอเข้าใจข้อหาได้ว่า ในส่วนสำคัญนั้น โจทก์หาว่าจำเลยที่ ๑ ใช้อาวุธปืนยิงนายมินเมื่อวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยว และหาว่าจำเลยที่ ๒,๓,๔ เป็นผู้ใช้หรือจ้างวานจำเลยที่ ๑(ให้ยิงนายมิน) ในวันที่ ๕ พ.ย.๒๔๙๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยงนั้นเอง
แต่คำร้องของโจทก์ที่ว่าขอเพิ่มเติมฟ้องนั้น ที่จริงไม่ใช่ขอเพิ่มเติม หากเป็นการขอแก้รายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาซึ่งหาว่าจำเลยที่ ๒,๓,๔ ใช้จ้างวานให้จำเลยที่ ๑ ยิงนายมิน แก้จากเวลากลางคืนหลังเที่ยงของวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ ตามฟ้อง เป็นวันเวลาใดไม่ปรากฎระหว่างวันที่ ๓ ถึงวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ อันเป็นรายละเอียดเช่นนี้ ถ้าจำเลยหลงต่อสู้ตามรายละเอียดในฟ้องเดิมที่ผิดไปนั้นแล้ว ป.วิ.อาญา มาตรา ๑๖๔ ให้ถือว่าจำเลยเสียเปรียบและห้ามไม่ให้โจทก์แก้ฟ้อง
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๔ ทำผิดในวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ ๔ ปฏิเสธและได้ต่อสู้คดีในการสืบพยานโจทก์ตลอดมาจนหมดพยาน ดั่งนี้ เห็นได้ว่า จำเลยได้หลงต่อสู้คดีไปตามที่โจทก์ฟ้องผิดวันนั้นแล้ว ฉะนั้น ศาลจะอนุญาตให้โจทก์แก้วันเวลาในฟ้องที่ผิดไปนั้นไม่ได้ควรต้องยกคำร้องขอแก้ฟ้องนั้น และข้อหาว่า จำเลยที่ ๔ กระทำผิดเมื่อใดก็ต้องถือตามฟ้องเดิม คือวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘
แต่โจทก์นำสืบพยานว่าได้ยินจำเลยที่ ๔ พูดว่า จ้างจำเลยที่ ๑ ให้ยิงนายมินก่อนนายมินถูกยิง (วันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘) ๒ วัน และโจทก์ไม่มีพยานอื่นว่าจำเลยที่ ๔ ได้จ้างวานใช้จำเลยที่ ๑ เมื่อวันที่ ๕ พ.ย. ๒๔๙๘ ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในการพิจารณาจึงต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสำคัญ ชอบที่จะยกฟ้องเสีย
ส่วนคดีเฉพาะตัวจำเลยที่ ๑ นั้น พยานโจทก์ฟังได้ว่าได้ทำความผิดตามโจทก์หา จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามคำพิพากษา ศาลจังหวัด ส่วนจำเลยที่ ๔ คงยกฟ้อง