คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การสืบพยานผู้เสียหายไว้ก่อนเพราะจะต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรอันยากแก่การนำมาสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ นั้น ไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง เพราะมิใช่การพิจารณาหลังฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังและถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง ส่วนการสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีแม้จะมีการพิมพ์ข้อความแทรกระหว่างบรรทัดในรายงานกระบวนพิจารณาว่า”ก่อนสืบพยานได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ”แต่จำเลยก็มิได้ยืนยันว่า ศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ แต่กลับบอกว่าจำไม่ได้ว่าศาลถามหรือไม่ จึงต้องฟังว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยในเรื่องทนายความแล้ว การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลจึงเป็นไปโดยชอบ
การที่โจทก์จัดให้ อ. เพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองการเป็นล่าม ให้เป็นล่ามการสืบพยานผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ นั้นไม่มีกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ ทั้งจำเลยก็มิได้คัดค้านล่ามดังกล่าวไว้ในการสืบพยาน การเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสี่ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยลักเอากระเป๋าสะพายหนัง 1 ใบ กล้องถ่ายรูป 1 กล้อง กระเป๋าสตางค์ 1 ใบ เงินสด 10,660 บาท หนังสือเดินทาง 1 เล่มและเช็คยุโรป 3 ใบ รวม 6 รายการ รวมราคาทั้งสิ้น 53,660 บาท ของนางอูลริเด้ รุกคัมป์ ผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยใช้มือฉกฉวยกระชากกระเป๋าสะพายซึ่งภายในบรรจุทรัพย์สินต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นและใช้รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 8 ฟ – 4140 เป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดหรือพาทรัพย์ที่ถูกประทุษร้ายไป ซึ่งจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด เพราะผู้เสียหายใช้มือคว้ากระเป๋าไว้ได้ทัน เป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์ของจำเลยล้มลงจนไม่สามารถวิ่งราวทรัพย์ของผู้เสียหายได้สมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานครเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้พร้อมยึดทรัพย์สินต่าง ๆ จำนวน6 รายการของผู้เสียหายที่ถูกวิ่งราวทรัพย์ และรถจักรยานยนต์ 1 คันซึ่งใช้ในการกระทำความผิดซึ่งเป็นของผู้อื่นไม่มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด และหมวกนิรภัย 1 ใบ เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 336, 336 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคหนึ่ง, 336 ทวิ ประกอบมาตรา 80 ฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุมลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้กระชากกระเป๋าของผู้เสียหายแต่ขณะที่รถจักรยานยนต์ที่จำเลยขับจะล้ม คันบังคับรถจักรยานยนต์ทางขวาเกี่ยวกับสายสะพายกระเป๋าของผู้เสียหายซึ่งมีลักษณะคล้ายกับดึงเอากระเป๋าของผู้เสียหายไปด้วย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นอุบัติเหตุและความบังเอิญมากกว่าเจตนากระทำผิด เห็นว่า โจทก์มีนางอูลริเด้ รุกคัมป์ ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า ขณะผู้เสียหายกับเพื่อนเดินอยู่ในซอยคาวบอย มีคนร้ายขับรถจักรยานยนต์มาทางด้านหลังและผ่านด้านซ้ายมือด้วยความเร็วสูงแล้วคนร้ายกระชากกระเป๋าสะพายชนิดมีสายยาวที่ผู้เสียหายสะพายไว้จากไหล่ซ้ายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายใช้มือซ้ายดึงแย่งกระเป๋าไว้ได้ด้วยแรงกระชากทำให้รถจักรยานยนต์ล้มลงเฉียงไปทางด้านขวามือของผู้เสียหาย คนร้ายจับคันบังคับรถจักรยานยนต์ยกขึ้น นายยอร์คเพื่อนผู้เสียหายเข้าไปบิดกุญแจดับเครื่องรถจักรยานยนต์สองครั้งและดึงกุญแจออก ชาวบ้านที่มามุงดูช่วยจับคนร้ายและถอดหมวกนิรภัยออกผู้เสียหายจึงเห็นหน้าคนร้ายและจำได้ว่าเป็นจำเลย คำเบิกความของผู้เสียหายจะรับฟังได้เพียงใดนั้น เมื่อพิจารณาแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุตามเอกสารหมาย จ.1 ประกอบภาพถ่ายตามหมาย ล.1ภาพที่ 4 ซึ่งศาลชั้นต้นทำเครื่องหมายวงกลมแสดงจุดเกิดเหตุแล้วเห็นได้ชัดว่า ถนนมีความกว้างพอสมควร จุดที่ผู้เสียหายเดินค่อนไปในทางเดินรถด้านขวามือซึ่งมิใช่ทางเดินรถของจำเลย ดังนั้นข้อที่จำเลยนำสืบอ้างว่าขณะขับรถจักรยานยนต์มีผู้หญิงเป็นคนไทยเดินตัดหน้า จำเลยจึงห้ามล้อรถกะทันหันเป็นเหตุให้รถจักรยานยนต์เสียหลักจะล้ม คันบังคับรถจักรยานยนต์ด้านขวาจึงไปเกี่ยวกับสายสะพายกระเป๋าของผู้เสียหายนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะจำเลยเบิกความว่าขณะนั้นมีคนมาเที่ยวค่อนข้างมาก เดินกันพลุกพล่านรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไม่สามารถแล่นเร็วได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคันบังคับรถจักรยานยนต์เกี่ยวกับสายสะพายกระเป๋าในลักษณะเช่นนั้นอย่างน้อยคันบังคับรถจักรยานยนต์จะต้องกระแทกแขนหรือบริเวณสะโพกข้างซ้ายของผู้เสียหายบ้างเป็นแน่ แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บบริเวณดังกล่าวแต่อย่างใด นอกจากนั้นผู้เสียหายเบิกความยืนยันอีกว่า คนขับได้ใช้มือดึงกระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหาย ผู้เสียหายใช้มือซ้ายดึงแย่งเอาไว้ดังนั้น หากเป็นเรื่องที่คันบังคับรถจักรยานยนต์เกี่ยวสายสะพายกระเป๋าจริงแล้วไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศจะต้องให้การต่อพนักงานสอบสวนหรือเบิกความต่อศาลบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อให้จำเลยได้รับโทษ นอกจากนี้แล้วยังปรากฏข้อเท็จจริงในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุพฤติการณ์ในการจับกุมว่าผู้เสียหายเป็นผู้ชี้ยืนยันให้จับจำเลยและรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยขับมีการนำถุงพลาสติกมาปิดทับแผ่นป้ายทะเบียนไว้ยิ่งเป็นพิรุธแสดงชัดว่าจำเลยตระเตรียมปกปิดเลขทะเบียนมิให้ผู้พบเห็นจำได้ภายหลังการกระทำความผิด ในชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยถูกทำร้ายแต่อย่างใด คำเบิกความของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลที่รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่กระชากกระเป๋าสะพายของผู้เสียหาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีเหตุผลรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า การสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ จะต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสองนั้น เห็นว่า มาตรา 237 ทวิ เป็นบทบัญญัติในหมวด 2 พยานบุคคลที่กำหนดให้ศาลชั้นต้นที่ได้รับคำร้องจากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนให้สืบพยานก่อนฟ้องคดีต่อศาล เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าพยานบุคคลซึ่งจะต้องนำมาสืบในภายหน้าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรยากแก่การนำมาสืบ ดังนี้ การสืบพยานผู้เสียหายดังกล่าว จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 172 วรรคสอง เพราะมิใช่การพิจารณาหลังฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลชั้นต้นจะต้องอ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามว่าได้กระทำผิดจริงหรือไม่ จะให้การต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง ส่วนที่การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลปรากฏข้อความในรายงานกระบวนพิจารณา ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2541 เป็นการพิมพ์ข้อความแทรกมาระหว่างบรรทัดว่า “ก่อนสืบพยานได้สอบถามผู้ต้องหาแล้วแถลงว่าไม่ต้องการทนายความ” ซึ่งจำเลยยกเป็นข้อพิรุธสงสัยนั้น แต่จำเลยก็มิได้ยืนยันว่าศาลชั้นต้นไม่ได้ถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่กลับเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า เนื่องจากเวลาผ่านไปนานแล้วจำเลยจำไม่ได้ว่าศาลถามหรือไม่ จึงฟังได้ว่าศาลชั้นต้นได้ถามจำเลยในเรื่องทนายความแล้ว การสืบพยานผู้เสียหายก่อนฟ้องคดีต่อศาลเป็นไปโดยชอบ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายมีว่าการเบิกความของผู้เสียหายผ่านล่ามที่เป็นเพื่อนผู้เสียหายและอยู่ด้วยกันในที่เกิดเหตุ กับไม่ปรากฏว่าล่ามดังกล่าวทางราชการรับรองแล้ว เป็นการรับฟังพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 ทวิ นั้น โจทก์ได้จัดนางสาวอัจฉราโล้วศรีสิน เป็นล่ามซึ่งปรากฏว่าก่อนจะแปลคำเบิกความล่ามดังกล่าวสาบานตนแล้ว แม้นางสาวอัจฉราจะเป็นเพื่อนผู้เสียหายซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุและทางราชการมิได้รับรองการเป็นล่ามก็ตาม ก็ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามมิให้เป็นล่ามไว้ อีกทั้งจำเลยก็มิได้คัดค้านล่ามดังกล่าวไว้ในการสืบพยานการเบิกความของผู้เสียหายซึ่งเป็นชาวต่างประเทศและไม่เข้าใจภาษาไทยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 46 วรรคสี่ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 แล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้วศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share