คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7568/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 เป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดเพียงใดก็ได้ตามที่ศาลจะเห็นสมควร ทั้งกฎหมายมิได้บังคับว่า ศาลต้องอนุญาตเท่ากับจำนวนวันที่คู่ความร้องขอเสมอไปและไม่จำต้องให้เหตุผลของการอนุญาตหรือไม่อนุญาตอีกด้วย เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ ซึ่งครบวันที่ 29 ธันวาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นเวลาเพียง 14 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ แม้ไม่ครบ 30 วัน ตามที่โจทก์ขอและศาลชั้นต้นไม่ได้ให้เหตุผลที่อนุญาตไม่ครบจำนวนตามที่โจทก์ขอไว้ก็ตามแต่ก็เป็นการสั่งภายในขอบเขตและหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา 23 ดังกล่าว หาเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอย่างใดไม่ แต่เจ้าพนักงานศาลกลับแจ้งแก่โจทก์ว่า ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่โจทก์ขอและนัดโจทก์มารับเอกสารที่ขอคัดถ่ายในวันที่ 14 มกราคม 2546 โจทก์จึงทำอุทธรณ์มายื่นในวันที่ 28 มกราคม 2546 กรณีจึงมีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุผลสมควรที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีก 16 วัน ตามที่โจทก์มีคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในครั้งหลัง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการทำละเมิดต่อโจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยทั้งสองให้การต่อสู่คดีขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 ให้ยกฟ้องโจทก์
วันที่ 24 ธันวาคม 2545 โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนด อ้างว่าทำอุทธรณ์ยื่นไม่ทันเนื่องจากคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจะพิมพ์เสร็จและเจ้าพนักงานศาลนัดให้โจทก์มารับสำเนาคำพิพากษาและเอกสารที่ขอคัดถ่ายในวันที่ 3 มกราคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 ว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546
ต่อมาวันที่ 28 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2546 ว่า โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลอนุญาตให้ขยายแล้ว จึงไม่รับอุทธรณ์ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดแก่โจทก์
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ในวันที่ 27 ธันวาคม 2545 โจทก์มาศาลเพื่อขอทราบคำสั่งศาลเรื่องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามนัดแล้ว ได้ตรวจดูในสมุดคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฎีกาของศาล มีข้อความเพียงว่า ศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้เท่านั้น ไม่ได้ระบุวันที่ไว้ เมื่อสอบถามเจ้าพนักงานศาลว่าศาลอนุญาตถึงวันใดก็ได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงานศาลว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ตามที่โจทก์ขอ โจทก์จึงเข้าใจว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาและเอกสารเพื่อประกอบการเขียนอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2546 เจ้าพนักงานศาลนัดให้โจทก์มารับเอกสารในวันที่ 3 มกราคม 2546 ถึงวันนัดเจ้าพนักงานศาลแจ้งว่ายังไม่ได้เสนอเรื่องคัดถ่ายให้โจทก์เพราะมีงานมาก นัดให้โจทก์มารับเอกสารใหม่ในวันที่ 14 มกราคม 2546 เมื่อโจทก์ได้รับเอกสารในวันดังกล่าวก็ได้จัดทำอุทธรณ์มายื่นในวันที่ 28 มกราคม 2546 เจ้าพนักงานศาลนัดให้โจทก์มาทราบคำสั่งศาลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ทราบในวันดังกล่าวว่าศาลสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์เพราะยื่นเลยระยะเวลาที่ศาลกำหนด โจทก์ตรวจสำนวนพบว่าในคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์มีผู้แก้ไขวันอ่านคำพิพากษาจากวันที่ 29 พฤศจิกายน 2545 เป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2545 เป็นเหตุให้ศาลเข้าใจว่าศาลมีคำพิพากษาตามวันที่แก้ไข จึงสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ผิดไปเป็นวันที่ 12 มกราคม 2546 ทั้งที่ควรเป็นวันที่ 29 มกราคม 2546 จึงขอให้สั่งเพิกถอนคำสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์เดิมและคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ที่สั่งไปโดยผิดหลง และมีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 กับสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องและนัดไต่สวน
จำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 และสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2546
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 เสีย และเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับอุทธรณ์ของโจทก์เป็นไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เพราะยื่นเกินกำหนดระยะเวลาที่ขยายให้ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 และยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 กับคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์เสีย แล้วศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 บัญญัติว่า “เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้น แต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นนี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย” การสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาจึงเป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดเพียงใดก็ได้ตามที่ศาลจะเห็นสมควร เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ ทั้งกฎหมายมิได้บังคับว่า ศาลต้องอนุญาตเท่ากับจำนวนวันที่คู่ความร้องขอเสมอไปและไม่จำต้องให้เหตุผลของการอนุญาตหรือไม่อนุญาตอีกด้วย คดีนี้โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 30 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ (ครบวันที่ 29 ธันวาคม 2545) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เป็นเวลาเพียง 14 วัน นับแต่วันครบกำหนดยื่นอุทธรณ์ แม้ไม่ครบ 30 วัน ตามที่โจทก์ขอและศาลชั้นต้นไม่ได้ให้เหตุผลที่อนุญาตไม่ครบจำนวนตามที่โจทก์ขอไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นการสั่งภายในขอบเขตและหลักเกณฑ์ของบทบัญญัติมาตรา 23 ดังกล่าว หาเป็นการขัดหรือฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอย่างใดไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ 14 วัน ไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นไม่อาจสั่งเพิกถอนคำสั่งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พฤติการณ์ของโจทก์เชื่อได้ว่า โจทก์เข้าใจโดยสุจริตว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ 30 วัน ตามที่โจทก์ขอ โจทก์เพิ่งทราบในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งเป็นวันที่เจ้าพนักงานศาลชั้นต้นนัดให้มาฟังคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับคำสั่งรับอุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพียง 14 วัน ถึงวันที่ 12 มกราคม 2546 เท่านั้น และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ไปแล้ว โจทก์ขอตรวจสำนวนแล้วยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นสั่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และขอให้มีคำสั่งใหม่เป็นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 โดยยื่นคำร้องทันทีในวันต่อมา ยิ่งส่อแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่และความสุจริตของโจทก์ในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์ ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ไม่อาจยื่นคำร้องขออนุญาตขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองได้ก่อนสิ้นระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ขยายในครั้งแรกได้ทันเพราะมีเหตุสุดวิสัย และข้อเท็จจริงได้ความว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ครั้งแรกเพียง 14 วัน ทั้งเจ้าพนักงานของศาลชั้นต้นคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาและเอกสารประกอบการจัดทำอุทธรณ์ให้โจทก์ได้เมื่อล่วงระยะเวลา 14 วัน ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายครั้งแรกไปแล้ว จึงเป็นกรณีมีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุผลสมควรที่จะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์อีก 16 วัน ถึงวันที่ 28 มกราคม 2546 ตามที่โจทก์ขอ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาและวินิจฉัยว่า ตามคำร้องของโจทก์มีเหตุสมควรอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ถึงวันที่ 29 มกราคม 2546 และสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์ถึงวันที่ 28 มกราคม 2546 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์ของโจทก์ต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share