คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7567/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสองหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามมาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วยมาตรา 225
การที่ ร. ซึ่งเป็นทนายจำเลยทำหน้าที่เป็นล่ามให้จำเลยซึ่งไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ ไม่ได้สาบานตน หรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของจำเลยให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล และ ร. มิได้ลงลายมือชื่อในคำแปลนั้นเลย การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองพ.ศ. 2522 มาตรา 11, 12(1), 18 วรรคสอง, 62, 81ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91, 264, 268 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 11, 12(1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือนฐานเป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก6 เดือน ฐานปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมและใช้เอกสารปลอมต้องลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 264 วรรคแรก แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 2 ปี 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก1 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ฎีกาว่า จำเลยได้เข้ามาในราชอาณาจักรไทยและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น จำเลยก็ได้แสดงหนังสือเดินทางการเข้ามาในราชอาณาจักรไทยของจำเลยต่อทนายความของจำเลย คือ นางเรไรโภคาพันธ์ และเมื่อศาลได้ถามจำเลยว่า “พวกคุณเข้ามาประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมายหรือว่าเข้ามาโดยผิดกฎหมาย” จำเลยตอบว่าเข้ามาโดยชอบ แต่ทนายความของจำเลยในขณะนั้นได้ตอบคำถามของศาลว่า “จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”เหตุที่ทนายความของจำเลยในขณะนั้นได้แปลความหมายผิดไป เพราะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษดีพอจึงทำให้ศาลชั้นต้นเข้าใจผิด โดยเข้าใจว่าจำเลยได้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ชอบกฎหมาย แต่แท้จริงจำเลยได้เข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยชอบด้วยกฎหมาย รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือเดินทางและรายการตามแบบที่ราชการกำหนดเอกสารท้ายฎีกาหมายเลข 1 และ 2 ขอได้โปรดมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหา จำเลยเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต และอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วยนั้นเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติอิหร่าน เชื้อชาติอิหร่าน มีภูมิลำเนาอยู่นอกราชอาณาจักรไทยจำเลยได้เดินทางจากประเทศอิหร่านเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543เวลากลางวัน เข้ามาในราชอาณาจักรไทยทางชายแดน และอยู่ในราชอาณาจักรไทยจนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2543โดยจำเลยไม่สามารถพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ ฉะนั้นในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2543 ศาลชั้นต้นจึงต้องมีล่ามแปลและล่ามคนนั้น คือ นางเรไรตามที่จำเลยอ้างมาในฎีกาตามฎีกาของจำเลยนั้น เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่าล่ามแปลความหมายผิดไม่ถูกต้องพอจะอนุโลมได้ว่าศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 นั่นเอง ด้วยเหตุดังกล่าวปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยจึงมีว่า ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณามาโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 หรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวมาแล้วว่า จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถพูดหรือเข้าใจภาษาไทยได้ และต้องมีล่ามแปล ดังนั้นศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 วรรคสอง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยหยิบยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสองประกอบด้วย มาตรา 225 ศาลฎีกาได้ตรวจคำให้การของจำเลยคำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ตลอดจนรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 13 ตุลาคม 2543 แล้วไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้บันทึกไว้ ณ ที่ใดเลยว่านางเรไรผู้ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามได้สาบานตนหรือปฏิญาณตนว่าจะแปลถ้อยคำของจำเลยให้ถูกต้องและทำหน้าที่โดยสุจริตใจ ไม่เพิ่มเติมหรือตัดทอนสิ่งที่แปล และนางเรไรก็มิได้ลงลายมือชื่อในคำแปลนั้นเลยการดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 13ตุลาคม 2543 นั้นจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคสอง ชอบที่จะให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 ประกอบด้วยมาตรา 225 และในชั้นนี้ยังไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสอบถามคำให้การจำเลย โดยให้ล่ามปฏิบัติให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 13 วรรคสอง แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share