คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7563/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้ที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมของที่ดินจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกหลังตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 ออก และให้โจทก์ไปจดทะเบียนภารจำยอม คำพิพากษาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกสู่สาธารณะได้ แม้โจทก์จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาและขอทุเลาการบังคับคดีก็ไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ตามคำพิพากษาแต่ประการใด จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้
การที่ศาลออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาจนมีการจดทะเบียนภารจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยทั้งสองเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางภารจำยอมเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ และมีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า การที่โจทก์ยังคงขัดขืนเพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้วเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อรื้อรั้วออกจึงเป็นการเข้าไปโดยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกตามคำพิพากษา หาใช่เป็นการเข้าไปโดยลุแก่อำนาจโดยมีเจตนารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุขไม่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่ดินของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,362, 365, 83

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์เพียงแต่ตรวจคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์แล้วด่วนวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาทำให้ทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย โดยมิได้พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนอีกทั้งจำเลยทั้งสองยังไม่ได้นำสืบต่อสู้ว่ากระทำไปโดยขาดเจตนากระทำผิดคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าแม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14675/2530 ให้โจทก์รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นด้านหลังตึกแถวของนางทองอยู่มารดาของจำเลยที่ 1 ออกเสีย แต่นางทองอยู่และจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจเข้าไปรื้อรั้วโดยพลการ หากแต่ต้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ดำเนินการการที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรื้อรั้วของโจทก์เสียเองจึงเป็นการมิชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาทำลายทรัพย์สินของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ตรวจอุทธรณ์ในความผิดดังกล่าวของโจทก์และเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตามกฎหมาย ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้วคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ได้ขัดต่อกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา ต้องถือว่าข้อหาความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโจทก์ไม่มีสิทธิฎีกาในความผิดฐานนี้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คงมีปัญหาในชั้นนี้แต่เพียงว่าคดีของโจทก์มีมูลความผิดฐานบุกรุกตามมาตรา 365(2) ประกอบมาตรา 362 หรือไม่ ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ตำบลสวนหลวง(บางจาก) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 1 ไร่ 1 งาน 19 ตารางวา ต่อมาโจทก์ได้รังวัดแบ่งแยกที่ดินเป็นแปลงย่อย 12 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 148860ถึงเลขที่ 148870 โจทก์ยกที่ดินแปลงย่อยให้บุตรของโจทก์ 2 แปลง ส่วนที่เหลือโจทก์ปลูกตึกแถวขายพร้อมที่ดิน นางทองอยู่มารดาจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 148865 พร้อมตึกแถวจากโจทก์ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ซึ่งมีเนื้อที่เหลืออยู่อีก 88 ตารางวา โจทก์กันไว้เป็นทางกว้างประมาณ 6 เมตร ยาวตลอดแนวด้านหลังตึกแถว เพื่อให้ผู้ซื้อตึกแถวจากโจทก์ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะต่อมาโจทก์ใช้ไม้ สังกะสี และกระเบื้องปิดกั้นตรงแนวเขตที่ดินระหว่างโฉนดเลขที่ 40783 ของโจทก์กับโฉนดเลขที่ 148865 ของนางทองอยู่ ทำให้นางทองอยู่กับบุคคลในครอบครัวไม่สามารถผ่านทางในโฉนดเลขที่ 40783 ออกสู่ทางสาธารณะได้ตามปกติ นางทองอยู่โดยจำเลยที่ 1 บุตรชายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีแพ่งต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 148865 และให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกด้านหลังตึกแถวของนางทองอยู่ออก ตามสำเนาคำฟ้องคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 15562/2539 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ระหว่างพิจารณาคดีนางทองอยู่ตาย จำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทนที่ ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 148865ให้โจทก์รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกด้านหลังตึกแถวของนางทองอยู่ออก ตามสำเนาคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 14675/2540 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้เอกสารหมาย จ.3 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้และขอทุเลาการบังคับคดีในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยทั้งสองกับนายสมเกียรติไม่ทราบนามสกุลเข้าไปในบริเวณที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ของโจทก์และรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกด้านหลังตึกแถวออก มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่ดินของโจทก์หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่าแม้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะพิพากษาว่าที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมให้รื้อรั้วที่กั้นตามแนวเขตที่ดินของโจทก์กับนางทองอยู่ออกเสีย แต่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์และโจทก์ยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีไว้ นอกจากนี้การบังคับคดีต้องกระทำโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีเท่านั้น จำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจเข้าไปดำเนินการด้วยตนเอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีมูลความผิดฐานบุกรุกตามที่โจทก์ฟ้อง เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาชี้ขาดว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 40783 ของโจทก์เป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 148865 ให้รื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกหลังตึกแถวในที่ดินของจำเลยที่ 1 ออกเสียและให้โจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอม คำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ย่อมมีผลผูกพันโจทก์กับจำเลยที่ 1ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะได้ การที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้และขอทุเลาการบังคับคดีไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้แต่ประการใด จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยทั้งสองไม่ใช่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจเข้าไปรื้อรั้วของโจทก์การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปรื้อรั้วเป็นการเข้าไปรบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุขนั้นข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์และยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีแล้วศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2540 ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน ตามสำเนาคำบังคับเอกสารหมายล.3 พนักงานเดินหมายได้ปิดคำบังคับไว้ที่ภูมิลำเนาของโจทก์เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2540 ครบกำหนดที่โจทก์ต้องปฏิบัติตามคำบังคับในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2541 มีการจดทะเบียนภาระจำยอมในโฉนดที่ดินของโจทก์ตามคำพิพากษาของศาลเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2541 แต่ยังไม่ได้รื้อรั้วตามคำบังคับของศาล ในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ 1 ได้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงว่า โจทก์ยังเพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้วตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปดูสภาพของรั้วด้วยตามสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เอกสารหมาย ล.7 หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกจึงเข้าไปรื้อรั้วดังกล่าว แม้จะฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่มีอำนาจเข้าไปรื้อถอนรั้วของโจทก์ได้เองโดยพลการแต่การที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาจนมีการจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมเป็นเหตุผลให้จำเลยทั้งสองเชื่อโดยสุจริตว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางภาระจำยอมเข้าออกสู่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ได้ และมีเหตุผลให้เข้าใจไปได้ว่า การที่โจทก์ยังคงขัดขืนเพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้วเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลดังจะเห็นได้จากการที่จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพระโขนงว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ยอมรื้อรั้วที่ปิดกั้นทางเข้าออกหลังตึกแถวของจำเลยที่ 1 และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปดูสถานที่เกิดเหตุด้วย การที่จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อรื้อรั้วออกจึงเป็นการเข้าไปโดยเชื่อว่าตนเองมีสิทธิใช้ที่ดินของโจทก์เป็นทางเข้าออกตามคำพิพากษาของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ หาใช่เป็นการเข้าไปโดยลุแก่อำนาจโดยมีเจตนารบกวนการครอบครองที่ดินของโจทก์โดยปกติสุขไม่ ข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบุกรุกที่ดินของโจทก์ ที่ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าคดีของโจทก์ไม่มีมูลความผิดฐานบุกรุก ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share