แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ระหว่างการทำงานโจทก์ลาป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการลา ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนด้วยวาจาและเป็นหนังสือ และลงโทษโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนหลายครั้ง ซึ่งจำเลยอาจอ้างความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่ตามหนังสือให้พนักงานออกจากงาน (เลิกจ้าง) ของจำเลยเพียงแต่อ้างเหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่เท่านั้น จำเลยไม่ได้อ้างเหตุความผิดของโจทก์มาเป็นเหตุโดยตรงในการเลิกจ้างจึงต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเลิกจ้างโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว จำเลยยังอ้างข้อบังคับของจำเลยที่ให้อำนาจจำเลยในการเลิกจ้างในกรณีดังกล่าวได้แต่ข้อบังคับของจำเลยกำหนดว่าพนักงานที่พ้นจากตำแหน่งหน้าที่ในกรณีเช่นนี้ถือว่าเป็นการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยมิได้กระทำความผิดและมีสิทธิได้รับบำเหน็จ จำเลยจึงหยิบยกอ้างความผิดของโจทก์ซึ่งมิได้ระบุเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือเลิกจ้างมาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์มิได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า30,582.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าชดเชย 107,939.99 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงาน (วันที่ 10พฤษภาคม 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จ จ่ายค่าเสียหาย 431,760 บาทแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยตั้งแต่ปี 2520 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ17,990 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานตามสำเนาหนังสือเลิกจ้าง ในรอบปี 2537 โจทก์ลาป่วย 69 วัน มาสาย 16 วัน ตามเอกสารหมาย ล.11 ในรอบปี 2538โจทก์ลาป่วย 82 วัน มาสาย 24 วัน ตามเอกสารหมาย ล.13 ในรอบปี 2539โจทก์ลาป่วย 62 วัน มาสาย 24 วัน ตามเอกสารหมาย ล.15 ในรอบปี 2540โจทก์ลาป่วย 44 วัน มาสาย 18 วัน ในรอบปี 2541 โจทก์ลาป่วย 120 วันมาสาย 16 วัน ในระหว่างเดือนกรกฎาคม 2541 ถึงเมษายน 2542 โจทก์ลาป่วย 123 วัน (ที่ถูก 123.5 วัน) มาสาย 34 วัน ผู้บังคับบัญชาของโจทก์เคยลงโทษโจทก์เกี่ยวกับการลาป่วยกล่าวคือเมื่อปี 2537 ตักเตือนด้วยวาจาปี 2539 ตักเตือนเป็นหนังสือ ปี 2539 ทำทัณฑ์บนตามเอกสารหมาย ล.14 และปี 2540 ภาคทัณฑ์ นอกจากนี้โจทก์ยังเคยถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 10 เป็นเวลา 1 เดือน ถูกตัดเงินเดือนร้อยละ 15 เป็นเวลา 1 เดือน โจทก์เป็นผู้หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องต่อหน้าที่ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้โจทก์จะลาป่วยมาก ขาดงาน ถูกตักเตือนด้วยวาจาและเป็นหนังสือถูกทำทัณฑ์บนและถูกภาคทัณฑ์ก็ตาม แต่ตามคำสั่งเลิกจ้างของจำเลย จำเลยได้กล่าวถึงการกระทำต่าง ๆ ของโจทก์มาแล้วและสรุปตอนท้ายว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่จึงให้โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3 ว่าด้วยการถอดถอนข้อ 34 ตามคำสั่งดังกล่าวเท่ากับจำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุที่โจทก์หย่อนความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ ประพฤติตนไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่ มิใช่เลิกจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์กระทำความผิดตามที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จำเลยจึงยกเรื่องดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ไม่ได้ การที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานตามข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3 นั้นข้อ 37 ให้ถือว่ามิได้เป็นการให้ออกโดยมีความผิดและจำเลยมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ 107,940 บาทสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,582.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยของเงินทั้งสองประเภทในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยของค่าชดเชยนับแต่วันเลิกจ้าง (วันที่ 10 พฤษภาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ดอกเบี้ยของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 ตุลาคม 2542) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงประการเดียวว่า จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ว่าในระหว่างการทำงานตั้งแต่ปี 2537 ถึงปี 2542 โจทก์ลาป่วยและมาทำงานสายเป็นจำนวนมากอีกทั้งโจทก์มิได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยว่าด้วยการลา ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ได้ตักเตือนโจทก์ในเรื่องดังกล่าวด้วยวาจาและเป็นหนังสือ จำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนหลายครั้งซึ่งจำเลยอาจอ้างความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้ก็ตาม แต่หนังสือให้พนักงานออกจากงาน(เลิกจ้าง) ของจำเลยตามจำเลยเพียงแต่อ้างเหตุที่ให้โจทก์ออกจากงานว่าการกระทำของโจทก์เข้าลักษณะเป็นผู้หย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่การงานของตน ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และบกพร่องในหน้าที่เท่านั้น จำเลยมิได้อ้างเหตุความผิดดังกล่าวของโจทก์มาเป็นเหตุโดยตรงในการเลิกจ้างแต่อย่างใด จึงต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเลิกจ้างโจทก์สำหรับความผิดดังกล่าว นอกจากนี้จำเลยอ้างข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 3 เอกสารหมาย ล.6 หมวดที่ 5 ว่าด้วยการถอดถอนข้อ 34เป็นอำนาจของจำเลยในการเลิกจ้างโจทก์ ซึ่งข้อบังคับดังกล่าวข้อ 37ก็ระบุว่าพนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ตามข้อ 34 ให้ถือว่าเป็นการออกจากตำแหน่งหน้าที่โดยมิได้กระทำความผิด มีสิทธิได้รับบำเหน็จอีกด้วย จำเลยจึงหยิบยกอ้างความผิดของโจทก์ซึ่งมิได้ระบุเป็นเหตุเลิกจ้างไว้ในหนังสือให้โจทก์ออกจากงานมาเป็นเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์หาได้ไม่ คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางในประเด็นนี้ชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน