แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์โดยฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจับสุกรของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาเพื่อจะนำเงินที่ขายสุกรได้มาหักหนี้ที่โจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลยดังที่ได้เคยปฏิบัติต่อกันมาจำเลยไม่มีเป็นเจตนาทุจริตลักสุกรของโจทก์ร่วมดังนี้การที่โจทก์ร่วมฎีกาว่ามิได้ยินยอมให้จับสุกรสุกรยังเป็นกรรมสิทธิ์ของตนอยู่จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์และฎีกาที่หยิบยกคำพยานขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา220.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2526 เวลากลางวันจำเลยได้บังอาจเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายสงคราม เตียนสำรวย โดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วบังอาจลักสุกรจำนวน 234 ตัว ราคา 585,000 บาท ของนายสงคราม เตียนสำรวย ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้มีอาชีพกสิกรรมจากเล้าสุกรในบริเวณเคหสถานไปโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสุกรจำนวน 585,000 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
นายสงคราม เตียนสำรวย ผู้เสียหายร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีอาชีพเลี้ยงสุกรขาย ส่วนจำเลยเป็นพ่อค้าขายอาหารสุกร โจทก์ร่วมเป็นหนี้ค่ารำและปลายข้าวจำเลย วันเกิดเหตุจำเลยมาจับสุกรจากเล้าของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาจะนำเงินที่ขายสุกรได้หักหนี้ที่โจทก์ร่วมเป็นหนี้จำเลยอยู่ ดังที่โจทก์ร่วมและจำเลยได้เคยปฏิบัติต่อกันมาหลายครั้งแล้วก่อนเกิดเหตุ จำเลยไม่มีเจตนาทุจริตลักสุกรของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมฎีกาข้อ 2.1 ว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้จับสุกรจากเล้าของโจทก์ร่วมไปจริง โดยที่โจทก์ร่วมมิได้ยินยอมให้จับและสุกรยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมอยู่ จำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์นั้นเห็นว่า ฎีกาของโจทก์ร่วมดังกล่าวเท่ากับเป็นฎีกาเพื่อให้ศาลฟังข้อเท็จจริง ว่าจำเลยเอาสุกรของโจทก์ร่วมไปโดยมีเจตนาทุจริตอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์นั่นเอง จึงเป็นฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนฎีกาในประการอื่น ๆ ตามฎีกาข้อ 2.1 ซึ่งโจทก์ร่วมหยิบยกคำพยานขึ้นกล่าวอ้างเพื่อให้ศาลฟังว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตนั้น ก็เป็นฎีกาโต้แย้งในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้”
พิพากษายกฎีกาของโจทก์ร่วม.