คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 755/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำว่า “หนี้” ที่บัญญัติไว้ในตอนต้นของมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญา มิได้หมายถึงเฉพาะหนี้เงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้อื่น ๆ ด้วย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำสัญญาขายที่ดินมีโฉนดให้แก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองที่ดินนั้นและชำระราคาครบถ้วนแล้ว เหลือแต่การโอนโฉนด โจทก์ย่อมได้ชื่อว่าอยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้แน่นอนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหนี้ที่จะต้องโอนที่ดินให้โจทก์จำเลยที่ 1 ที่ 2 กลับโอนขายที่ดินนั้นให้จำเลยที่ 3 ไปเสีย โดยจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่าโจทก์กำลังจะฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 แต่ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นผู้มีทรัพย์สินมากพอที่จะชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ แม้หนี้สินอื่นที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่เป็นจำนวนมาก จำเลยก็ชำระให้โดยไม่บิดพลิ้ว การที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์นั้น เป็นเพราะโจทก์กับจำเลยแปลความในสัญญากันคนละทาง มิใช่เพราะมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นเรื่องผิดสัญญาในทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดทางอาญาฐานโกงเจ้าหนี้ และจำเลยที่ 3 ผู้รับซื้อที่ดินนั้นไว้ก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญาดุจกัน
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 13/2517 และครั้งที่ 2/2518)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามบังอาจร่วมกันกระทำการทุจริต เพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑, ๒ ได้รับชำระหนี้ซึ่งจำเลยที่ ๑, ๒ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๑๒๓๗๐, ๑๒๓๗๑ ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่โจทก์ตามที่ได้ตกลงขายไว้แล้ว จำเลยที่ ๓ รู้อยู่แล้วว่าที่ดินทั้งสองโฉนดดังกล่าวนี้ โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ ๑, ๒ และใช้สิทธิครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย และรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ ๑, ๒ มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์จำเลยที่ ๑, ๒ ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินทั้งสองโฉนดนี้ให้จำเลยที่ ๓ ในราคา ๗๕,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๓ ได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินสองแปลงดังกล่าวไว้โดยทุจริต ซึ่งโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑, ๒ ชำระหนี้ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน ๒ โฉนด โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน ๔๔๗,๓๐๐ บาท ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วสั่งประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๐, ๘๓ จำคุกจำเลยคนละ ๓ เดือน ปรับคนละ ๒,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑,๒ ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินที่พิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองและชำระราคาที่ดินครบถ้วนแล้ว เหลือแต่การโอนโฉนดเท่านั้น ได้ชื่อว่าโจทก์อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนสิทธิได้ก่อน โจทก์จึงเป็นเจ้าหนี้แน่นอนของจำเลยที่ ๑, ๒ จำเลยที่ ๑, ๒ มีหนี้ที่จะต้องโอนที่ดินให้โจทก์ แต่กลับโอนขายที่ดินนั้นให้จำเลยที่ ๓ ไปเสีย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า คำว่า “หนี้” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ที่ว่า “…..ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน……” นั้นจะหมายความเฉพาะหนี้เงินหรืออย่างไร เพราะหากหมายความเฉพาะหนี้เงินแล้ว การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้ ศาลฎีกาได้พิจารณาปัญหานี้โดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าคำว่า “หนี้” ตามมาตรานี้มิได้หมายถึงเฉพาะหนี้เงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนี้อื่น ๆ ด้วย การกระทำของจำเลยในคดีนี้จึงอาจจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้ หากจำเลยได้กระทำไปด้วยเจตนาจะมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้
แต่คดีได้ความว่าที่พิพาท ๒ โฉนดที่จำเลยไม่ยอมโอนให้โจทก์นี้ อยู่ในทำเลและราคาสู้ที่ดินซึ่งจำเลยที่ ๑, ๒ ได้โอนให้โจทก์ไปแล้วไม่ได้ จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีฐานะจะชำระหนี้ค่าเสียหายให้โจทก์ได้ เพราะแม้หนี้สินอื่นที่จำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ถึง ๑,๒๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยก็ชำระให้โดยมิได้บิดพลิ้ว และจำเลยยังมีที่ดินในย่านการค้าอีก ๔๐ ไร่ ที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมโอนที่พิพาทให้โจทก์ ก็เพราะจำเลยถือเอาการซื้อขาย ๓ ไร่เป็นเกณฑ์ ซึ่งโจทก์ถือเอาตามแผนผัง เป็นเรื่องแปลความในสัญญากันคนละทาง หาใช่จำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑, ๒ เป็นเรื่องผิดสัญญาทางแพ่ง ไม่เป็นความผิดทางอาญา เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว จำเลยที่ ๓ ผู้รับซื้อที่พิพาทไว้ก็ย่อมไม่มีความผิดทางอาญาดุจกัน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ในผลที่ให้ยกฟ้อง
พิพากษายืน

Share