คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7546/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาระบุเพียงว่า หากผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัดยินยอมชดใช้เงิน 400,000 บาท โดยมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วย แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาและจะต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท หนี้เบี้ยปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงินจึงต้องอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 224 ซึ่งให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี แต่หนี้เงินเบี้ยปรับนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิด เมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระเงินเบี้ยปรับ ซึ่งครบกำหนดเวลาชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 12 เมษายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินเบี้ยปรับในวันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์ แล้วไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องผิดสัญญา และกรณีนี้กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินจากการผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาจำนวน 450,246.60 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ได้รับแจ้งจากโจทก์ให้นำตัวผู้ต้องหาไปส่งมอบแก่โจทก์ตามฟ้องและได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้ชำระเงินตามสัญญาประกันแล้ว และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 450,246.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อแรกว่า ตามสัญญาประกันเอกสารหมาย จ.9 ระบุเบี้ยปรับไว้แน่นอนแล้วจำนวน 400,000 บาท มิได้ระบุดอกเบี้ยไว้ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี เห็นว่า แม้สัญญาประกันเอกสารหมาย จ.9 ข้อ 2 ระบุเพียงว่า หากผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนดนัด ยินยอมใช้เงิน 400,000 บาท โดยมิได้กำหนดเรื่องดอกเบี้ยไว้ด้วยกันแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งผู้ต้องหาและจะต้องชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท หนี้เบี้ยปรับดังกล่าวเป็นหนี้เงินจึงอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 ซึ่งบัญญัติว่า “หนี้เงินนั้นท่านให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี…” ดังนั้น จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหา โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับจำนวน 400,000 บาท แต่หนี้เงินเบี้ยปรับนี้จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยเมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยที่ 1 แถลงรับข้อเท็จจริงว่าได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระเงินเบี้ยปรับตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และ 4 แล้ว ซึ่งครบกำหนดชำระเงินตามหนังสือทวงถามในวันที่ 12 เมษายน 2542 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินเบี้ยปรับในวันดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดต้องรับผิดดอกเบี้ยผิดนัดตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดดอกเบี้ยผิดนัดนับแต่วันที่ 20 มีนาคม 2542 ที่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งตัวผู้ต้องหานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหากับโจทก์ แล้วไม่ส่งตัวผู้ต้องหาตามกำหนด กรณีจึงเป็นเรื่องผิดสัญญา และกรณีนี้กฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มิใช่มีอายุความ 1 ปีดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 13 เมษายน 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share