คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การบรรยายฟ้องเรื่องปลอมเอกสารที่ถือว่าไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 เป็นพัสดีเรือนจำ จำเลยที่ 2 เป็นผู้คุมชั้น 2 จำเลยที่ 2 คุมนักโทษไปทำงานนอกเรือนจำแล้วนักโทษเกิดหลบหนีไป จำเลยที่ 2 รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ให้ปกปิดไว้ก่อนเพื่อติดตามตัวเมื่อติดตามไม่ได้ จำเลยทั้งสองมิได้จัดการอย่างไร คงปกปิดไว้มิได้รายงานต่อผู้บัญชาการเรือนจำตามระเบียบ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงถือว่าเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13
ครั้นเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงชื่อนักโทษที่หลบหนีนั้นในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาลดโทษ คณะกรรมการฯ หลงเชื่อว่านักโทษผู้นั้นยังมีตัวอยู่ในเรือนจำจึงลงมติลดโทษให้ 1 ใน 5 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1)
เมื่อถึงเวลาครบกำหนดที่นักโทษผู้นั้นจะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำ ดังนี้ (1) สลักหลังหมายจำคุกของนักโทษผู้นั้น รับรองว่าได้ตรวจสอบถูกต้องแล้ว เสนอปล่อยตัวในวันที่1 เมษายน 2507 โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์ จำเลยที่ 1 เป็นคนลงนาม (2) ร่วมกันปลอมเอกสารใบสุทธิของนักโทษผู้นั้น โดยจำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนเองแทนนักโทษและจำเลยที่ 1 ลงนามตรวจรับรอง (3) จำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนแทนนักโทษในช่องเมื่อพ้นโทษ ในทะเบียนรายตัวผู้ต้องคุมขังของนักโทษผู้นั้น (4) จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำหนังสือของผู้บัญชาการเรือนจำถึงนายอำเภอสามเงาว่านักโทษผู้นั้นพ้นโทษจะกลับไปอยู่อำเภอสามเงาภูมิลำเนาเดิม แล้วเสนอหนังสือนั้นให้ผู้บัญชาการลงนามโดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์ จำเลยที่ 1 เป็นคนตรวจรับรอง การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 264, 265 อีกกระทงหนึ่ง แต่ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดกระทงเดียว โดยจำคุกคนละ 2 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและขอเพิ่มเติมฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เมื่อครั้งเป็นเจ้าพนักงานพัสดีเรือนจำจังหวัดตาก และจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำแหน่งผู้คุมชั้นสองมีอำนาจหน้าที่ทำและดูแลรักษาเอกสารเกี่ยวกับตัวผู้ต้องคุมขัง ได้กระทำผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกระทงต่างกรรมต่างวาระกัน คือ

ก. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2506 เวลากลางวัน จำเลยได้ร่วมกันปล่อยตัวนายเฮง เชื้อดี ซึ่งต้องขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดตากให้หลุดพ้นจากการคุมขัง และเมื่อระหว่างวันที่ 8 สิงหาคม 2506 ถึง วันที่ 16 กรกฎาคม 2507 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยมิได้รายงานให้ผู้บัญชาการเรือนจำและกรมราชทัณฑ์ทราบถึงการหลบหนีของนายเฮง

ข. เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2506 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใส่ชื่อนายเฮงลงในบัญชีรายชื่อผู้ขอรับพระราชทานอภัยโทษทั้ง ๆ ที่ไม่มีตัวนายเฮงต้องขังอยู่ในเรือนจำ เสนอบัญชีต่อคณะกรรมการพิจารณาลดโทษ คณะกรรมการหลงเชื่อ ได้ลงมติลดโทษให้นายเฮงตามที่จำเลยเสนอ

ค. เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2507 และวันที่ 1 เมษายน 2507เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ คือ

1. สลักหลังหมายจำคุกที่ศาลออกให้ใหม่ว่าได้ตรวจถูกต้องแล้วเสนอผู้บัญชาการเรือนจำเพื่อให้ปล่อยตัวนายเฮง เป็นการรับรองหลักฐานที่เป็นความเท็จ เพราะนายเฮงได้หลบหนีไปแล้ว

2. กรอกข้อความในแบบ ร.ท.25 (ใบสำคัญการพ้นโทษ) ว่านายเฮงต้องจำคุกมาพอแก่โทษแล้ว และจำเลยที่ 2 พิมพ์ลายมือแทนนายเฮงลงไปในแบบนั้นเสนอผู้บัญชาการเรือนจำลงนาม

3. จำเลยที่ 2 พิมพ์ลายนิ้วมือแทนนายเฮงในช่องเมื่อพ้นโทษในเอกสาร “ทะเบียนตัวผู้ต้องคุมขัง” เป็นการเพิ่มเติมในเอกสารที่แท้จริง

4. ทำปลอมขึ้นทั้งฉบับ เป็นหนังสือจากผู้บัญชาการเรือนจำถึงนายอำเภอสามเงาว่า นายเฮงพ้นโทษเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2507จะกลับไปอยู่อำเภอสามเงาภูมิลำเนาเดิม แล้วเสนอหนังสือนั้นให้ผู้บัญชาการลงนาม ซึ่งความจริงนายเฮงได้หลบหนีไปแล้ว การกระทำดังกล่าวทำให้นายปริญญา แดงประดับ รักษาการแทนผู้บัญชาการเรือนจำหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงลงนามในเอกสารตาม (1)(2) และ(4) ทำให้เกิดความเสียหายแก่นายปริญญาและกรมราชทัณฑ์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162(1), 165,191, 204, 264, 265, 83, 90 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์ข้อ ค.(1) (2) (3) และ(4) เป็นฟ้องเคลือบคลุมลงโทษไม่ได้ แต่การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานไม่รายงานการหลบหนีของนายเฮงต่อผู้บังคับบัญชา เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 กระทงหนึ่ง และในการปฏิบัติราชการตามหน้าที่ จำเลยทั้งสองร่วมกันทำบัญชีขอพระราชทานอภัยโทษต่อคณะกรรมการพิจารณาอภัยโทษรับรองว่านายเฮงมีตัวอยู่ในเรือนจำเป็นความเท็จ เป็นผิดมาตรา 162(1) ตามประมวลกฎหมายอาญา อีกกระทงหนึ่ง ที่โจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 165, 191, 204 นั้นไม่ได้ความว่าเป็นเรื่องจำเลยทั้งสองป้องกันหรือขัดขวางมิให้นายเฮงต้องรับโทษจำคุกตามหมายจำคุกของศาลแต่ประการใด เป็นเรื่องจำเลยที่ 2 ทำให้นายเฮงหลบหนีจากการควบคุมไปโดยประมาท จึงลงโทษจำเลยตามโจทก์ขอไม่ได้ ส่วนที่โจทก์ขอลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 161, 264 และ 265 เมื่อได้วินิจฉัยว่าฟ้องข้อ ค.ของโจทก์เคลือบคลุมเสียแล้วจึงลงโทษจำเลยตามมาตราที่โจทก์ขอไม่ได้ พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งได้ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 กระทงหนึ่ง และตามมาตรา 164(1) อีกกระทงหนึ่งให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามมาตรา 157 ซึ่งได้แก้ไขแล้ว อันเป็นกระทงที่หนักที่สุดแต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยไว้คนละ 2 ปี คำขอข้ออื่นให้ยก

โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ฟ้องข้อ ค.ของโจทก์ที่หาว่าจำเลยปลอมเอกสารไม่เคลือบคลุม แต่ฟังข้อเท็จจริงว่า มีตัวนายเฮงอยู่ในเรือนจำตลอดมาโดยมิได้หลบหนี พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162(1), 264, 265 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามมาตรา 90 ส่วนกำหนดโทษคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาเรื่องฟ้องเคลือบคลุมว่า การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดในวันที่ 31 มีนาคม 2507 และวันที่ 1 เมษายน 2507 นั้นเป็นการระบุวันกระทำผิดโดยแน่นอนว่า โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในสองวันนั้นชัดเจนพอที่จำเลยจะเข้าใจได้ จำเลยปลอมเอกสารฉบับใดในวันใด เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะนำสืบในภายหลังได้ และจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นผู้ทำเอกสารดังกล่าวจริง มิได้หลงต่อสู้แต่ประการใด ฟ้องของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เคลือบคลุม และศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่านายเฮง เชื้อดีได้หลบหนีการควบคุมไปจากเรือนจำแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2506 ขณะจำเลยที่ 2ควบคุมไปทำงานนอกเรือนจำ เมื่อจำเลยที่ 2 รายงานให้จำเลยที่ 1 ทราบจำเลยที่ 1 ให้ปกปิดไว้ก่อนเพื่อติดตามตัวนายเฮง เชื้อดี เมื่อติดตามไม่ได้ จำเลยทั้งสองมิได้จัดการอย่างไรคงปกปิดไว้ มิได้รายงานต่อผู้บัญชาการเรือนจำตามระเบียบ การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 กระทงหนึ่ง และเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลงชื่อนายเฮง เชื้อดี ในบัญชีรายชื่อผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษเสนอต่อคณะกรรมการคณะกรรมการฯ เชื่อว่านายเฮง เชื้อดี ยังมีตัวอยู่ในเรือนจำ ลงมติลดโทษให้ 1 ใน 5 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) อีกกระทงหนึ่ง และเมื่อครบกำหนดที่นายเฮง เชื้อดี จะพ้นโทษตามหมายจำคุกของศาล จำเลยทั้งสองได้ร่วมกัน (1) สลักหลังหมายจำคุกของนายเฮง เชื้อดี รับรองว่าได้ตรวจสอบถูกต้องแล้วเสนอปล่อยตัวในวันที่ 1 เมษายน 2507 โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์ จำเลยที่ 1 เป็นคนลงนาม (2) ร่วมกันปลอมเอกสารหมาย จ.16 ใบสุทธิของนายเฮง เชื้อดี โดยจำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนเองแทนนายเฮง และจำเลยที่ 1 ลงนามตรวจรับรอง (3) จำเลยที่ 2 ลงลายพิมพ์นิ้วมือของตนแทนนายเฮง เชื้อดี ในช่องเมื่อพ้นโทษในทะเบียนรายตัวผู้ต้องคุมขังของนายเฮง เชื้อดี (4) จำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือของผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดตากถึงนายอำเภอสามเงา โดยจำเลยที่ 2 เป็นคนพิมพ์จำเลยที่ 1 เป็นคนตรวจรับรอง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 161, 264, 265 อีกกระทงหนึ่ง พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 13 กระทงหนึ่ง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1) กระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 161, 264, 265 อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 2 ปี

Share