คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าภาษีโรงเรือนที่เจ้าหน้าที่ประเมินเกินไป โดยกล่าวในฟ้องว่าโจทก์ฟ้องนายทับ ณ พัทลุง ในนามนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุงเป็นจำเลย ย่อมเป็นการฟ้องบุคคลธรรมดาในตำแหน่งหน้าที่ของเขา
ตามพระราชบัญญัติปันรายได้บำรุงเทศบาล 2478 มาตรา 4 ซึ่งบัญญัติว่า ภาษีโรงเรือน ซึ่งจะพึงเรียกเก็บได้ในเขตเทศบาลให้โอนให้เทศบาลเรียกเก็บเป็นรายได้ของเทศบาล และให้เทศบาลมีอำนาจและหน้าที่แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อการนี้ประกอบกับ พระราชบัญญัติเทศบาล 2481 มาตรา 36 บัญญัติว่าในการบริหารการเทศบาลทั้งหลาย ให้นายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้าดำเนินกิจการทั้งปวงของเทศบาล ดังนี้ นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาโดยตำแหน่งหน้าที่นายกเทศมนตรีจึงอาจฟ้อง หรือถูกฟ้องเป็นคดีความในโรงศาลได้ ไม่จำเป็นต้องเอานิติบุคคลเข้ามาเป็นคู่ความเสมอไป(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 11/92)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องนายทับ ณ พัทลุงในนามนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง เป็นจำเลย ขอให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่เจ้าหน้าที่ได้ประเมินภาษีของโจทก์จำนวน 48 บาท จำเลยให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินโดยถูกต้อง และตัดฟ้องว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นส่วนบุคคล ไม่ได้ฟ้องเทศบาลเมืองพัทลุงซึ่งเป็นนิติบุคคลจำเลยไม่ต้องรับผิดคืนเงินรายนี้ เพราะเทศบาลเมืองพัทลุงอันเป็นนิติบุคคลเป็นผู้เรียกเก็บ จำเลยเป็นนายกเทศมนตรีมีหน้าที่เพียงพิจารณาอุทธรณ์เรื่องภาษีโรงเรือนและที่ดินเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิจารณาข้อตัดฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกา ได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องมาโดยชัดเจนว่า โจทก์ฟ้องนายทับ ณ พัทลุงในนามนายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา โดยตำแหน่งหน้าที่ของเขา ตามพระราชบัญญัติปันรายได้บำรุงเทศบาล พ.ศ. 2479 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2481 มาตรา 36 เป็นที่เห็นได้ว่านายกเทศมนตรีทั้งโดยตำแหน่งจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการเทศบาลจึงอาจฟ้อง หรือถูกฟ้องเป็นคดีความในโรงศาลได้ มิจำต้องเอานิติบุคคลเป็นคู่ความเสมอไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีภาษีโรงเรือนนี้ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน ได้บัญญัติให้มีการ “อุทธรณ์” การประเมินต่อผู้เป็นหัวหน้ารับผิดชอบในหน่วยการนั้น ๆ เสียก่อน จึงจะนำคดีขึ้นมาสู่ศาลได้ ดังนี้ ในฐานะของนายกเทศมนตรี โดยตำแหน่งนั้น จึงแตกต่างกับผู้จัดการนิติบุคคลอื่นบางชนิด ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้บังคับตามบทบัญญัติแต่ในลักษณะตัวแทนเป็นเฉพาะรายไป ประกอบกับพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 32 ดังนี้ เมื่อนายกเทศมนตรี ต้องเป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการทั้งปวงของเทศบาล บุคคลธรรมดา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรี จึงต้องเป็นผู้ที่ถูกบังคับตามกฎหมายอยู่โดยตรง ศาลฎีกาเห็นว่า นายทับ ณ พัทลุง ในนามนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองพัทลุง ย่อมถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีนี้ได้

พิพากษายืน

Share