แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 12,000 เม็ด น้ำหนักรวม 84.29 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าเมทแอมเฟตามีน 12,000 เม็ด สามารถคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงต้องรับฟังว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แม้โจทก์จะนำสืบถึงรายงานการตรวจพิสูจน์ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 84.29 กรัมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็มิใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวให้หนักขึ้นมิได้ กรณีต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาทและตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นบทกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยที่เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเป็นจำคุกชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท โดยมิได้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ไม่ถูกต้อง
ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย โดยกำหนดว่า หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่ มีกำหนดเท่าใดและศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขส่วนนี้ เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา 225
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง เมื่ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นเพียงของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ในคดีเท่านั้น โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งริบของกลางดังกล่าวไม่ได้ และแม้คู่ความมิได้ฎีกาเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวก็ตามศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 10, พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91, 371 ริบเมทแอมเฟตามีน เครื่องวิทยุคมนาคม และรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก – 4227 อ่างทอง ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหาพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะและข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปฏิเสธข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง), 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 6, 23 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ข้อหาพาอาวุธปืนมีทะเบียนไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นกรรมเดียวกับข้อหาพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อหาพาอาวุธปืนและมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง ข้อหาพาอาวุธปืน จำคุก 3 เดือน ข้อหามีเครื่องวิทยุคมนาคม จำคุก 3 เดือน แต่เมื่อลงโทษข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงคงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ โดยเปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 แล้ว ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 37 ปี 6 เดือน และปรับ 2,250,000 บาท เมื่อรวมกับโทษข้อหาพาอาวุธปืนฯ และมีเครื่องวิทยุคมนาคมฯ แล้ว คงจำคุก 37 ปี 12 เดือน และปรับ 2,250,000 บาท ไม่ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยมีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ จากคำเบิกความของดาบตำรวจชาติชาย ทองถวิล และดาบตำรวจสุจริต น้อยเล็น พยานโจทก์ผู้ร่วมจับกุมได้ความโดยสรุปว่า การตรวจค้นและจับกุมจำเลยในคดีนี้นั้น เกิดจากการสืบทราบมาก่อนว่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น จึงวางกำลังเจ้าพนักงานตำรวจนับสิบคนรอบบริเวณที่เกิดเหตุจุดที่พบจำเลยและรถยนต์นั้นตามแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.5 ที่ร้อยตำรวจเอกโชคอำนวยพร คำนุ พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานสอบสอนในคดีนี้ได้ทำขึ้นนั้น เห็นได้ว่า จำเลยถูกตรวจค้นบนถนนสาธารณะหน้าโรงงานสระบุรีเทคนิค ซึ่งเป็นที่เปิดเผย จุดที่ดาบตำรวจสุจริตอยู่หน้าโรงงานดังกล่าวก็ยืนปะปนกับประชาชนที่ดูเหตุการณ์ มีเพียงจำเลยคนเดียวในรถยนต์ที่จำเลยขับมา เมทแอมเฟตามีนของกลางก็พบอยู่ใต้เบาะที่นั่งในรถยนต์ของจำเลยนั่นเอง จำเลยก็เบิกความรับว่ามีการตรวจค้นกันบริเวณนั้นจริงและรับด้วยว่าจำเลยเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวอีกด้วย หากเจ้าพนักงานตำรวจจะกลั่นแกล้งปรักจำเลยแล้วเหตุใดจึงต้องเลือกที่จะมาตรวจค้นกันในที่สาธารณะให้ประชาชนได้มีโอกาสรู้เห็นเหตุการณ์ทั้งๆ ที่ไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น เชื่อได้ว่าการตรวจค้นและจับกุมจำเลยในครั้งนี้เกิดการได้รับข้อมูลล่วงหน้าของเจ้าพนักงานตำรวจมาก่อนจริงว่าจะมีการกระทำความผิดกันที่ใดและรายละเอียดของรถยนต์ที่จะใช้กระทำความผิดด้วย จึงได้เกิดการตรวจค้นกันในบริเวณดังกล่าว พบเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนถึง 12,000 เม็ด ซึ่งได้แยกแบ่งบรรจุและมัดไว้อย่างดีเป็นลักษณะของการนำไปจำหน่ายโดยชัดเจนและตรวจค้นพบในรถยนต์ที่จำเลยเป็นเจ้าของและผู้ขับอยู่ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้มั่นคงว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจริง ฎีกาของจำเลยเป็นเพียงการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์โดยเฉพาะคำเบิกความของผู้ร่วมจับกุมซึ่งแตกต่างกันเพียงรายละเอียดเท่านั้น และฎีกาในประเด็นปลีกย่อยอื่นอีกที่ไม่เป็นผลให้ดุลพินิจในการับฟังพยานหลักฐานโจทก์ต้องเปลี่ยนไปจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม และพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 ให้จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท นั้นไม่ถูกต้อง เพราะคดีนี้โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องว่า จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำนวน 12,000 เม็ด น้ำหนักรวม 84.29 กรัม โดยไม่ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เท่าใด กรณีไม่อาจสันนิษฐานให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยว่าเมทแอมเฟตามีน 12,000 เม็ด สามารถคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงต้องรับฟังว่าเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ไม่ถึงสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม แม้โจทก์จะนำสืบถึงรายการตรวจพิสูจน์ว่า เมทแอมเฟตามีนของกลางคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 84.29 กรัมก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็มิใช่ส่วนหนึ่งของคำฟ้อง จะนำมาประกอบคำฟ้องของโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดดังกล่าวให้หนักขึ้นมิได้ กรณีต้องด้วบบทกำหนดโทษ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท และตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 เป็นบทกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยที่เป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น โดยระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ ดังนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจกำหนดโทษที่ลงแก่จำเลยเป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 3,000,000 บาท โดยมิได้ระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ไม่ถูกต้อง และที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลย โดยกำหนดว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกิน 1 ปี หรือไม่มีกำหนดเท่าใด และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขส่วนนี้ เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปี ไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาไม่ริบอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะโจทก์มิได้มีคำขอให้ริบของกลางดังกล่าว ศาลจะพิพากษาหรือสั่งเองโดยโจทก์มิได้ฟ้องหรือมีคำขอท้ายฟ้องหาได้ไม่ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง เมื่ออาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนเป็นเป็นเพียงของกลางที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดไว้ในคดีเท่านั้น โจทก์มิได้มีคำขอให้ริบ ศาลจึงพิพากษาหรือสั่งริบของกลางดังกล่าวไม่ได้ และแม้คู่ความมิได้ฎีกาเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 49 และ 186 (9)”
พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง จำเลยเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่นให้วางโทษเป็นสามเท่าตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 จำคุก 45 ปี และปรับ 900,000 บาท คำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ จำคุก 33 ปี 9 เดือน และปรับ 675,000 บาท เมื่อรวมกับโทษข้อหาพาอาวุธปืนฯ และมีวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครองฯ แล้ว คงจำคุก 33 ปี 15 เดือน และปรับ 675,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้กักขังแทนไม่เกิน 1 ปี คืนอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1