คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7521/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองไว้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2529 ในราคา 500,000 บาท ซึ่งระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ทั้งที่ดินตั้งอยู่ในย่านชุมชน ราคาซื้อขายกันปกติปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 850,000 บาท หากมีการประกาศโฆษณาขายในหนังสือพิมพ์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านได้กว้างขวางแล้ว จะทำให้มีผู้สนใจเข้าสู้ราคามากและได้ราคาสูงขึ้นขอให้ยกเลิกคำสั่งอนุญาตขาย และขายทอดตลาดใหม่นั้น เท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาและคำสั่ง กรณีจำต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสองซึ่งจำเลยทั้งสองต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนเมื่อจำเลยทั้งสองเพียงแต่คัดค้านการขายทอดตลาดไว้ในรายงานการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ และข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา246 และ 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 628,697.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของเงินต้น 599,855.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลสั่งไม่คืนด้วยจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำยึดทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 จำนองแก่โจทก์ คือที่ดินโฉนดที่ 5376 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง เพื่อขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดหลายครั้งแต่ขายไม่ได้เนื่องจากบางครั้งไม่มีผู้ใดมาสู้ราคา บางครั้งมีผู้มาสู้ราคาแต่ให้ราคาต่ำ จึงต้องเลื่อนการขายทอดตลาดเรื่อยมาจนถึงครั้งที่ 5 ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534 ซึ่งเป็นวันนัดขายทอดตลาดครั้งสุดท้าย ปรากฎว่ามีผู้เสนอราคาเพียงคนเดียวคือนายสุรินทร์ จิตรปฏิมา โดยให้ราคา 501,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ปรากฎว่า นายสุรินทร์จิตรปฏิมา เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 501,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รายงานการขายทอดตลาดต่อศาลชั้นต้นเพื่อพิจารณาว่าสมควรจะขายในราคาที่มีผู้เสนอสูงสุดหรือไม่ประการใด โดยจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นสามีจำเลยที่ 2 แถลงคัดค้านไว้ในรายงานการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า ราคาที่ผู้เสนอมานั้นยังต่ำไปศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขายได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์อ้างว่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองไว้แก่โจทก์ตั้งแต่ปี 2529 ในราคา 500,000 บาท ซึ่งระยะเวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว ทั้งที่ดินตั้งอยู่ในย่านชุมชน ราคาซื้อขายกันปกติปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 850,000 บาท หากมีการประกาศโฆษณาขายในหนังสือพิมพ์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านได้กว้างขวางแล้ว จะทำให้มีผู้สนใจเข้าสู้ราคามากและได้ราคาสูงขึ้น ขอให้ยกเลิกคำสั่งอนุญาตขาย และขายทอดตลาดใหม่นั้นเท่ากับเป็นการกล่าวอ้างว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยมิชอบ อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาและคำสั่งกรณีจำต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา296 วรรคสอง ซึ่งจำเลยทั้งสองต้องยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่ทราบการฝ่าฝืนนั้น เมื่อจำเลยทั้งสองเพียงแต่คัดค้านการขายทอดตลาดไว้ในรายงานการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลชั้นต้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จำเลยทั้งสองจะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่ และข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ 247
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และให้ยกฎีกาของจำเลยทั้งสอง

Share