แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์มาจากส.ผู้เช่าซื้อเดิมโดยมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่1กับส.ด้วยว่า หากโจทก์ที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อในนามของ ส. ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อครบแล้ว และผู้ให้เช่าซื้อจะโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่ ส.ส. จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่โจทก์ที่ 1 ดังนี้โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิครอบครองรถยนต์ตามสัญญาที่ทำไว้กับ ส.และมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดแก่รถยนต์คันดังกล่าวได้ เหตุละเมิดเกิดวันที่ 11 มกราคม 2527 แต่โจทก์ที่ 1เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น-3208 สมุทรปราการ ซึ่งโจทก์ที่ 2 เป็นคนขับจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และเป็นคนขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-0120 พิษณุโลก จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2527 จำเลยที่ 1ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 70-0120 พิษณุโลก ด้วยความประมาทใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แล่นกินทางล้ำเส้นแนวทางเดินรถสวน พุ่งเข้าชนรถโจทก์ที่จอดอยู่เสียหาย และกระจกหน้าแตกบดอัดโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคนขับรถโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส โจทก์ทั้งสองเพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์2527 จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 461,000 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน น.-3208 สมุทรปราการ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 2 ฝ่ายเดียวโจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง และคดีของโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน 186,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528) จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงินจำนวน 163,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ 3จะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-3208สมุทรปราการ กับบริษัทสยามกลการ จำกัด แต่นางสุชาดา กวยทองเป็นผู้เช่าซื้อนั้น ได้ความจากนายสายัณห์ เหล็กเพชร หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ที่ 1 ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน น-3208 สมุทรปราการ โดยซื้อมาจากนางสุชาดา เมื่อวันที่9 กันยายน 2525 ราคา 190,000 บาท ได้ชำระเงินให้นางสุชาดาไปแล้ว 50,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ตกลงว่าจะชำระค่าเช่าซื้อในนามของนางสุชาดาให้แก่บริษัทสยามกลการ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อต่อจนครบตามสัญญาซื้อขายและโอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์ เอกสารหมาย จ.2 เห็นว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อและรับมอบรถยนต์คันดังกล่าวมาจากนางสุชาดา ตามสัญญา เอกสารหมายจ.2 ซึ่งมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนางสุชาดาด้วยว่าหากโจทก์ที่ 1 ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อในนามของนางสุชาดาครบแล้วบริษัทสยามกลการ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อจะโอนทะเบียนรถยนต์ให้แก่นางสุชาดา นางสุชาดาก็จะโอนทะเบียนรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1ดังนี้ โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวตามสัญญาที่ทำไว้กับนางสุชาดา และมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ทำละเมิดแก่รถยนต์คันดังกล่าวได้ จำเลยที่ 3 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า เหตุเกิดวันที่ 11 มกราคม2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุ 1 ปีเศษ ได้ความจากนายสายัณห์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์ที่ 1 ว่า ในการที่จำเลยที่ 1 ขับรถชนรถของโจทก์ที่ 1 นั้น การที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในฐานะผู้ขับ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้เป็นเจ้าของรถและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้นโจทก์ที่ 1 โดยนายสายัณห์เพิ่งทราบจากพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่15 กุมภาพันธ์ 2527 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถและเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยเนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2527ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ปจ.14 ของศาลจังหวัดกำแพงเพชรว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถ และได้จ้างจำเลยที่ 1 ให้เป็นผู้ขับจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว และเมื่อเกิดเหตุแล้วโจทก์ที่ 2 ได้รับบาดเจ็บถึงสลบ จำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไป โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจทราบได้ว่าใครเป็นเจ้าของรถและมีผู้ใดจะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ จนกระทั่งจำเลยที่ 2 มาให้การต่อพนักงานสอบสวน โจทก์ที่ 1 จึงทราบความสัมพันธ์ระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ว่าเป็นลูกจ้างนายจ้างกัน และทราบว่าจำเลยที่ 3เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3มิได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงเชื่อว่าโจทก์ที่ 1เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์2527 โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2528 ฟ้องโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ แล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 และความเสียหายของรถยนต์ของโจทก์เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ไปชนรถยนต์ของโจทก์ ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้นั้น นับว่าเป็นราคาที่พอสมควรแล้ว และโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายสาหัสจริง ซึ่งตามลักษณะแห่งความรุนแรงของบาดแผลดังกล่าว ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท ก็เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
พิพากษายืน