แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณี ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนคำขอท้ายฟ้องแม้จะอ้างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง มีบัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ส่วนตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 บัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 8 มิใช่มาตรา 9 ดังนี้ การที่ระบุขอให้ลงโทษตามมาตรา 9 ย่อมแปลได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 นั่นเอง มิใช่ประสงค์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 แต่อย่างใด จึงหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลย อันจะมีผลเท่ากับโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ไม่ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี มาตรา 9
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 (ที่ถูก พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 4 ปี และปรับ 30,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำคุก 2 ปี เพียงสถานเดียวและไม่ปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุนางสาวศิริวรรณ กระทำการค้าประเวณี คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยเป็นธุระจัดหาเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์มีร้อยตำรวจเอกอกนิษฐ์ กับสิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์ พยานทั้งสองกับพวกร่วมกันวางแผนล่อซื้อการค้าประเวณี เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกอกนิษฐ์กับสิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์เบิกความสอดคล้องกัน โดยเฉพาะสิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์ได้ปลอมตัวและเข้าไปพูดคุยกับจำเลยด้วยตนเอง ทั้งในการล่อซื้อยังได้นำธนบัตรไปแจ้งลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ ที่สิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์เบิกความว่า สิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์เข้าไปในร้านเดอะแจมเมื่อเวลาประมาณ 23 นาฬิกา แต่รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี ระบุว่า สิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์นำธนบัตรไปแจ้งเมื่อเวลา 23.30 นาฬิกา ก็ฟังได้ว่าเป็นเพียงเวลาโดยประมาณ และสถานที่เกิดเหตุมิได้อยู่ไกลจากสถานีตำรวจ จึงมิใช่เป็นข้อที่แตกต่างกันมากจนถึงกับจะเป็นพิรุธ ข้อที่ร้อยตำรวจเอกอกนิษฐ์ค้นได้ธนบัตรฉบับละ 500 บาท 1 ฉบับ ตามสำเนาภาพถ่ายจากจำเลย จำเลยรับว่าร้อยตำรวจเอกอกนิษฐ์ค้นได้ธนบัตรดังกล่าวจากจำเลยจริง โดยธนบัตรมีหมายเลขตรงกับที่ได้มีการแจ้งลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าว ทั้งโจทก์ยังมีนางสาวศิริวรรณเบิกความว่า วันเกิดเหตุหลังเวลาเที่ยงคืน ขณะพยานนั่งอยู่ในห้องวีไอพีของโรงแรมสินทวี จำเลยไปพบพยานและบอกว่ามีลูกค้ามาซื้อบริการทางเพศ พยานเคยขายบริการทางเพศโดยจำเลยเป็นคนติดต่อมากกว่า 5 ครั้ง พยานไปพบลูกค้าที่สถานบันเทิงเดอะแจมและรับเงินจากลูกค้า 2,000 บาท ระหว่างอยู่ในห้องลูกค้าพูดคุยกับเพื่อนทางโทรศัพท์เมื่อเพื่อนของลูกค้าเข้ามาในห้องจึงทราบว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ พยานถูกจับข้อหากระทำการค้าประเวณี สอดคล้องกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกอกนิษฐ์กับสิบตำรวจเอกเทิดศักดิ์โดยไม่มีเหตุที่นางสาวศิริวรรณต้องกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลย ข้อที่จำเลยนำสืบอ้างว่า นางสาวศิริวรรณ มอบเงิน 500 บาท ให้แก่จำเลยเพื่อเป็นค่าห้องพักนั้น ไม่น่าเชื่อ เพราะการชำระค่าห้องพักน่าจะเป็นการชำระต่อพนักงานเก็บเงินมากกว่าที่จะนำไปชำระให้แก่จำเลย จึงน่าเชื่อว่าเป็นเงินที่นางสาวศิริวรรณให้แก่จำเลยเป็นค่าตอบแทนที่จำเลยหาลูกค้าให้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นธุระจัดหาเพื่อให้นางสาวศิริวรรณ กระทำการค้าประเวณี จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษในสถานเบาและรอการลงโทษนั้น เห็นว่า ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาเพื่อให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณี กฎหมายกำหนดโทษไว้ในอัตราสูง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาจำคุกจำเลย 2 ปี จึงมิได้หนักเกินไป แต่กรณีตามฟ้องจำเลยเป็นธุระจัดหาให้นางสาวศิริวรรณกระทำการค้าประเวณีเพียงรายเดียวและด้วยความยินยอมของนางสาวศิริวรรณเอง มิใช่เกิดจากการบังคับของจำเลย ทั้งจำเลยมิได้มีสถานที่ไว้สำหรับการค้าประเวณี หรือมีพฤติการณ์ใช้อุบายหลอกลวงหรือบังคับขู่เข็ญอย่างผิดคลองธรรมให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ตอบแทนโดยมิชอบสำหรับจำเลยเองหรือบุคคลอื่นใด การกระทำของจำเลยจึงมิได้ร้ายแรงมากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อน ตามรูปคดีจึงยังมีเหตุอันควรปรานีรอการลงโทษให้แก่จำเลย แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบจึงลงโทษปรับอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่า ตามคำขอท้ายฟ้องอาญาของโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี มาตรา 9 โดยมิได้ระบุปี พ.ศ. ใดจึงต้องหมายถึง พระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว อันมีผลเท่ากับโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณี ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนคำขอท้ายฟ้องแม้จะอ้างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง มีบัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ส่วนตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 บัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 8 มิใช่มาตรา 9 ดังนี้การที่ระบุขอให้ลงโทษตามมาตรา 9 ย่อมแปลได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 นั่นเอง มิใช่ประสงค์ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 แต่อย่างใด จึงหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลย อันจะมีผลเท่ากับโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ไม่ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 20,000 บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8