คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1289/2514

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยถูกผู้ร้องฟ้องคดีแพ่งเรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดินคดีนั้นจำเลยกับผู้ร้องได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ว่า จำเลยจะออกโฉนดที่พิพาทแล้วโอนให้ผู้ร้อง โดยผู้ร้องจะต้องชำระราคาที่ดินอีก 10,000 บาทให้จำเลย ต่อมาจำเลยถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และที่ดินมีราคาสูงขึ้นเป็น 100,000 บาทเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไม่อาจอ้างอำนาจตามมาตรา 122 วรรคแรกแห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2485 มาบอกปัดความผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเพราะสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินอีก 10,000 บาท นั้นมิใช่สิทธิตามสัญญาโดยแท้ แต่เป็นสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว ถือได้ว่าเป็นสิทธิตามคำพิพากษานั่นเอง

ย่อยาว

ผู้ร้องร้องว่า ผู้ร้องเคยเป็นโจทก์ฟ้องนายหอมจำเลยคดีนี้ตามคดีแพ่งแดงที่ 167/2505 เรื่องผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน คดีถึงที่สุดโดยผู้ร้องกับจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไว้ว่า จำเลยจะออกโฉนดที่ดินพิพาทแล้วโอนให้ผู้ร้อง เงินค่าที่ดินอีก 10,000 บาท ผู้ร้องจะชำระให้จำเลยในวันโอน ศาลได้พิพากษาให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปตามยอมแล้ว ต่อมามีนางถนอม สวัสดี กับพวกโต้แย้งสิทธิเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ จำเลยได้ฟ้องนางถนอมกับพวก ศาลพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของนายหอมจำเลย ต่อมานายหอมถูกโจทก์คดีนี้ฟ้องล้มละลายศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีแดงที่ 167/2505 ผู้ร้องได้รับความเสียหายขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีดังกล่าว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่า ปรากฏว่าเวลานี้ที่ดินรายนี้มีราคาราว 100,000 บาท แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นลูกหนี้(ผู้ล้มละลาย) จะต้องโอนที่ดินนี้ให้แก่ผู้ร้อง โดยจะได้รับเงินราคาที่ดินอีก10,000 บาทเท่านั้น การที่จะรับปฏิบัติตามสัญญาต่อไปนั้นกองทรัพย์สินในคดีล้มละลายจะมีภาระยิ่งกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ กรณีจึงต้องตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจที่จะไม่ยอมรับสัญญาประนีประนอมยอมความไว้ปฏิบัติต่อไปได้

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ นายหอมลูกหนี้จะต้องโอนที่พิพาทให้แก่ผู้ร้องในราคา 25,000 บาท โดยนายหอมลูกหนี้ได้รับเงินมัดจำไว้แล้ว 15,000 บาท ผู้ร้องจะต้องชำระในวันโอนอีก 10,000 บาท แต่เนื่องด้วยที่พิพาทในปัจจุบันมีราคาเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 บาท สิทธิตามสัญญาดังกล่าวของลูกหนี้มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ตามมาตรา 122 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้นได้ หากผู้ร้องได้รับความเสียหายโดยเหตุนี้ก็ชอบที่จะขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายนั้นได้ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เพียงแต่ที่ดินมีราคาสูงขึ้นอย่างเดียวไม่พอจะฟังว่าทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญานั้นมีภาระเกินกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่มีอำนาจที่จะปฏิเสธไม่ยอมรับสัญญาประนีประนอมดังกล่าว พิพากษากลับ ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของนายหอมลูกหนี้ปฏิบัติตามหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความและคำบังคับในคดีแพ่งแดงที่ 167/2505

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า หลักสำคัญซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ผู้ร้องกับลูกหนี้ผู้ล้มละลายได้ทำกันไว้ คือ พระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 122 วรรคแรก ถึงแม้ว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระราคาที่ดินอีก10,000 บาท แต่สิทธิของลูกหนี้ผู้ล้มละลายคดีนี้ก็มิใช่สิทธิตามสัญญาโดยแท้ เพราะเป็นสิทธิตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิตามคำพิพากษานั่นเอง และโดยนัยเดียวกันการที่ลูกหนี้ผู้ล้มละลายจะต้องไปจัดการออกโฉนดที่ดินรายพิพาทแล้วโอนให้แก่ผู้ร้องนั้นก็คือได้ว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งลูกหนี้ผู้ล้มละลายมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ผู้ล้มละลายหาอาจอ้างอำนาจตามมาตราดังกล่าวมาบอกปัดความผูกพันตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความในกรณีเช่นนี้ไม่

พิพากษายืน

Share