คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7507/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์จำเลยที่ว่าหนังสือรับสภาพหนี้มีลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงินแม้จะระบุว่าเป็น”หนังสือรับสภาพหนี้”ก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475นั้นเมื่อคดีมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพียงประเด็นเดียวว่าหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18ต่อปีเป็นโมฆะหรือไม่ไม่มีประเด็นว่าหนังสือรับสภาพหนี้เป็นการกู้ยืมเงินหรือไม่กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าการเรียกดอกเบี้ยตามหนังสือรับสภาพหนี้จะเกิดอัตราซึ่งฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราพ.ศ.2475อันจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่จะอุทธรณ์ได้แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1ได้สั่งซื้อสินค้าจากโจทก์จำพวกพลอยแดงและพลอยน้ำเงิน หลายรายการเป็นเงิน 1,442,233 บาท กำหนดชำระราคาวันที่ 26 ธันวาคม 2533เมื่อครบกำหนดชำระ จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้โจทก์เพียงบางส่วนคงเหลือหนี้ที่ค้างชำระเป็นเงิน 914,130 บาท จำเลยที่ 1 จึงออกเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรวงศ์ จำนวน 4 ฉบับเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีโจทก์ เพื่อเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาวันที่ 24 เมษายน 2534 จำเลยที่ 1กับโจทก์ตกลงรับยอดหนี้คงเหลือเป็นเงิน 900,000 บาท และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก้โจทก์ไว้ โดยตกลงจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี นับจากวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ และยอมชำระดอกเบี้ยและค่าเสียหายเดือนละ 13,500 บาท ทุกเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินแก่โจทก์เสร็จสิ้น มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกัน และเมื่อวันที่ 25เมษายน 2534 จำเลยที่ 2 ได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 21852 มาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ดังกล่าวด้วย เมื่อครบกำหนดชำระตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์เป็นดอกเบี้ยและค่าเสียหาย อัตราเดือนละ 13,500 บาท รวม 5 เดือนเป็นเงิน 67,500 บาท คงค้างต้นเงินและดอกเบี้ยกับค่าเสียหายตามหนังสือรับสภาพหนี้อีก 7 เดือน โจทก์ได้ทวงถามจำเลยทั้งสองหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระและบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคือต้นเงินจำนวน 900,000 บาท ดอกเบี้ยและค่าเสียหายที่ค้างชำระอีก 7 เดือน เดือนละ 13,500 บาทเป็นเงิน 94,500 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 900,000 บาท นับจากวันที่หนังสือรับสภาพหนี้ถึงกำหนดถึงวันฟ้องรวม 11 เดือน เป็นเงิน 61,875 บาท รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน1,056,375 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,056,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 900,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่สามารถชำระได้ ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 21852 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่)จังหวัดสมุทรปราการ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์และหากได้เงินไม่ครบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อสินค้าตามฟ้องจากโจทก์จริง ต่อมาได้มีการแปลงหนี้ใหม่ตามหนังสือรับสภาพหนี้โดยกำหนดต้นเงินจำนวน 900,000 บาท จะต้องชำระดอกเบี้ยเดือนละ 13,500 บาท หรืออัตราร้อยละ 18 ต่อปี โจทก์คิดดอกเบี้ยเกิดกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด หนังสือรับสภาพหนี้ตกเป็นโมฆะไม่มีผลใช้บังคับ การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลใช้บังคับด้วย และหากรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ยังผูกพันเป็นหนี้โจทก์เฉพาะต้นเงินจำนวน 900,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยไม่มีผลบังคับแล้วหลังจากวันที่ 24 เมษายน 2534 ซึ่งเป็นวันทำหนังสือรับสภาพหนี้จำเลยที่ 1 ได้ชำระต้นเงินให้แก่โจทก์เป็นเงินรวม 67,500 บาทคงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระแก่โจทก์จำนวน 832,500 บาทขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,056,375บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 900,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้ยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 โฉนดเลขที่ 21852 เลขที่ดิน 976ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายก อุทธรณ์ ของ จำเลย ทั้ง สอง
จำเลย ทั้ง สอง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองนั้นชอบหรือไม่ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่าหนังสือรับสภาพหนี้มีลักษณะเป็นสัญญากู้ยืมเงิน แม้จะระบุว่าเป็น “หนังสือรับสภาพหนี้”ก็ตามจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิดอัตรา พ.ศ. 2475 และตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องเรียกร้องตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งเป็นมูลหนี้สามัญ มิใช่ฟ้องบังคับจำนองและยังไม่ได้มีการบอกกล่าวการบังคับจำนอง จึงไม่อาจบังคับจำนองได้นั้น เห็นว่า นอกจากจำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้ในคำให้การแล้วในชั้นชี้สองสถานคดีมีประเด็นข้อพิพาทตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพียงประเด็นเดียวว่า หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นโมฆะหรือไม่ และมีผลให้การค้ำประกันของจำเลยที่ 2 ไม่มีผลบังคับไปด้วยหรือไม่เท่านั้น ดังนั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า หนังสือรับสภาพหนี้เป็นการแปลงหนี้ใหม่เป็นสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปี เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกิดอัตรา พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน นั้น เห็นว่า เมื่อคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าหนังสือรับสภาพหนี้ เป็นการกู้ยืมเงินหรือไม่ กรณีจึงไม่มีปัญหาว่าการเรียกดอกเบี้ยตามหนังสือรับสภาพหนี้จะเกินอัตราซึ่งฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 อันจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาแต่อย่างใด และที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าโจทก์มิได้บอกกล่าวบังคับจำนองโดยมิชอบ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนนั้น เห็นว่า คดีนี้ในชั้นชี้สองสถานตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2536ของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองแถลงรับว่าโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ที่ค้างและบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2โดยชอบแล้วฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบอีกหรือไม่ จึงเป็นฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ยุติแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share