คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7505/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างบ้าน เป็นการจ้างทำของซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 602 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้สินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ กำหนดอายุความ2 ปี ตามมาตรา 165(1) เดิม จึงต้องเริ่มนับแต่เมื่อผู้ว่าจ้างรับมอบการที่ทำ อันเป็นเวลาที่ผู้รับจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 169 เดิม แม้ตามสัญญาจ้างกำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างว่าจ่ายเงินในแต่ละงวดมุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นหลักก็ตามแต่เมื่อจำเลยยังมิได้รับมอบการที่ทำในงวดที่ 3 และที่ 4 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้าง อายุความเรียกเอาสินจ้างของโจทก์งวดที่ 3 และที่ 4 จึงยังไม่เริ่มนับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2531 จำเลยจ้างโจทก์ปลูกสร้างอาคารในที่ดินโฉนด ตกลงค่าจ้าง 640,000 บาท ต่อมาจำเลยได้ขอเปลี่ยนแปลงการก่อสร้างโดยก่อสร้างเพิ่มเติมด้านหลังอาคารชั้นล่าง โจทก์ทำการปลูกสร้างอาคารเสร็จไปประมาณร้อยละ 80 จำเลยค้างชำระค่าจ้างงวดที่ 3 และบางส่วนของงวดที่ 4 เป็นเงิน 248,463 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงหยุดงานแต่ต้องเสียค่าจ้างคนงานเฝ้าของในที่ก่อสร้างจนครบกำหนดเวลาตามสัญญาเป็นเวลา 69 วัน วันละ 1,600 บาท เป็นเงิน 110,400 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 358,863 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2532 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 248,463 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เพราะสิทธิเรียกร้องค่าจ้างตามความสำเร็จของงานงวดที่ 3 และงวดที่ 4 มีขึ้นตั้งแต่วันที่5 มกราคม 2532 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2534คดีโจทก์จึงขาดอายุความเพราะเกินกว่า 2 ปีแล้ว เห็นว่าจำเลยว่าจ้างให้โจทก์ก่อสร้างบ้าน จึงเป็นกรณีจ้างทำของซึ่งจะต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า อันสินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ ดังนั้น กำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) เดิม (มาตรา 193/33 (1) ที่แก้ไขใหม่) จึงต้องเริ่มนับแต่เมื่อผู้ว่าจ้างรับมอบการที่ทำ อันเป็นเวลาที่ผู้รับจ้างอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 168 เดิม (มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) แม้ว่าตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.1 ได้กำหนดเงื่อนไขการจ่ายค่าจ้างว่าจ่ายเงินในแต่ละงวดมุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นหลักดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันได้ความว่า จำเลยยังมิได้ตรวจรับมอบการที่ทำในงวดที่ 3 และที่ 4 เมื่อจำเลยยังไม่รับมอบการที่ทำ โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาสินจ้างอายุความตามที่จำเลยฎีกาจึงยังไม่เริ่มนับ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share