คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7501/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินในวันที่เช็คถึงกำหนดการใช้เงิน แต่มิได้รับเงินตามเช็คเนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะเป็นการปฏิเสธด้วยวาจา กรณีก็ต้องถือว่าธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คแล้ว เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก็ดี พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ก็ดี หาได้บัญญัติว่าการปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือไม่
ผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยผัดผ่อนชำระเงินไปจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม2540 ยิ่งเป็นข้อชี้แสดงให้เห็นว่าผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่เช็คถึงกำหนดการใช้เงิน แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายเพิ่งไปร้องทุกข์ในวันที่ 5 มกราคม 2541 จึงเกินกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยกระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าว จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำคุก 1 เดือนคำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คธนาคารนครธน จำกัด (มหาชน) สาขาอุบลราชธานี ลงวันที่ 17มิถุนายน 2540 จำนวนเงิน 54,187 บาท ต่อมาธนาคารได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คผู้เสียหายได้นำเช็คดังกล่าวไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจโทฆนรพ รัตนใหม่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 5 มกราคม2541 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า ผู้เสียหายนำเช็คไปเรียกเก็บตามวันที่ลงในเช็คแต่ไม่สามารถเรียกเก็บเงินได้ ซึ่งหลังจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วผู้เสียหายให้เวลาจำเลยในการผัดผ่อนชำระเงินไปจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม2540 เห็นว่าในวันที่ 17 มิถุนายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่เช็คถึงกำหนดการใช้เงินผู้เสียหายได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินแล้ว ธนาคารมีหน้าที่ต้องใช้เงินตามเช็คตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 991 แต่ผู้เสียหายก็มิได้รับเงินตามเช็ค เนื่องจากธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน แม้จะเป็นการปฏิเสธด้วยวาจากรณีก็ต้องถือว่าธนาคารปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คแล้ว เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยเช็คก็ดี พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ก็ดี หาได้บัญญัติว่า การปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คนั้นต้องทำเป็นหนังสือไม่ ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า หลังจากนั้นผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยผัดผ่อนชำระเงินไปจนถึงวันที่ 10 ตุลาคม2540 ยิ่งเป็นข้อชี้แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดเกิดขึ้นและรู้ตัวว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540 แล้ว แต่ปรากฏว่าผู้เสียหายเพิ่งไปร้องทุกข์ในวันที่ 5 มกราคม 2541 จึงเกินกำหนด 3 เดือนนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวว่าจำเลยกระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 การที่ผู้เสียหายนำเช็คไปขึ้นเงินอีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคม 2540 แล้วธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีกนั้น จึงมิใช่ความผิดเพิ่งเกิดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม2540 เพราะเป็นความผิดเดียวกันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2540แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share