คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7490/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

วัดที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งหมายความรวมถึงวัดประเภทสำนักสงฆ์ด้วยนั้นหลังจากกรรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดแล้ว ยังจะต้องมีการดำเนินการเพื่อขอตั้งเป็นวัดต่อนายอำเภอและผ่านขั้นตอนการพิจารณา การปรึกษาและการรายงานการขอตั้งวัดโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตามลำดับ จนเมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจึงจะประกาศตั้งเป็นวัดในราชกิจจานุเบกษาได้ ดังนั้นวัดโจทก์แม้จะได้รับอนุญาตให้สร้างวัดแล้ว แต่เมื่อยังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อขอตั้งเป็นวัดและได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตั้งวัดตามกฎหมาย ย่อมถือว่าขณะยื่นฟ้องโจทก์เป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์ยังไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของวัดโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ขอรับโฉนดที่ดินซึ่งทางราชการออกให้เป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 11368 แล้วจำนองที่ดินดังกล่าวไว้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นโมฆะ และบังคับให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 11368 เป็นชื่อโจทก์โดยจำเลยที่ 1 เสียค่าธรรมเนียมในการโอนทางทะเบียนฝ่ายเดียว หากจำเลยที่ 1 ไม่ดำเนินการขอถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่เป็นนิติบุคคล เมื่อกระทรวงศึกษาธิการยังมิได้ประกาศตั้งเป็นวัดในราชกิจจานุเบกษา โจทก์จึงยังไม่เป็นวัดไม่อาจเป็นคู่ความได้ แม้จำเลยที่ 1 จะขออนุญาตสร้างวัดและกรรมการศาสนามีหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด แต่ก็ยังมิได้มีการตั้งวัดภายในกำหนด5 ปี เพื่อดำเนินการให้กระทรวงศึกษาธิการประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา เมื่อจำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่ยังไม่จดทะเบียน นิติกรรมให้จึงไม่สมบูรณ์ การที่โจทก์เข้าครอบครองที่ดินจึงเป็นการครอบครองแทนจำเลยที่ 1 มิใช่ยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินมีกรรมสิทธิ์และนำไปจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต จำหน่ายคดีจำเลยที่ 2

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยที่ 1ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดิน น.ส.3 ก. ของพระเท้งบิดาจำเลยที่ 1 ยกให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาปี 2527 พระเท้งไปแจ้งหลวงปู่ชม อณังคโนเจ้าอาวาสทุ่งยาวว่าจะยกที่ดินพิพาทให้สร้างวัดแล้วร่วมกับจำเลยที่ 1 นำชี้แนวเขตที่ดินให้หลวงปู่ชมดู ปี 2528 หลวงปู่ชมเป็นประธานในการก่อสร้างวัดโจทก์ในที่ดินพิพาทโดยเริ่มสร้างศาลาหอฉันก่อน ปี 2529 จำเลยที่ 1 ขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินส่วนที่ยกให้สร้างวัดออกมาเป็น น.ส.3 ก. เลขที่ 3445 ตามเอกสารหมาย จ.5และต่อมาได้นำไปขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.6 ในปี 2530 จำเลยที่ 1ยื่นคำขออนุญาตสร้างวัดต่อนายอำเภอท้องที่พร้อมกับทำหนังสือสัญญายกที่ดินให้สร้างวัดตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 ในปีเดียวกัน กรมการศาสนาพิจารณาคำขอแล้วออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดได้ ตามเอกสารหมาย จ.1 ปัจจุบันวัดโจทก์มีพระทวี ฐีตเปโม เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส แต่งตั้งโดยเจ้าคณะธรรมยุติอำเภอจังหวัดปราจีนบุรีตามตราตั้งเอกสารหมาย จ.3 มีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม ได้แก่ศาลาบำเพ็ญกุศล กุฏิพระ ที่พักอุบาสิกา โรงครัว และมีพระภิกษุจำพรรษาประมาณ 5 ถึง 8 รูป ในแต่ละปี มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อกรมการศาสนาได้ออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดโจทก์แล้ว วัดโจทก์ย่อมเป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์ และมีฐานะเป็นนิติบุคคล จึงมีอำนาจฟ้องนั้น ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 31 ที่แก้ไข วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคลและวัดมีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือสำนักสงฆ์ ตามมาตรา 32 การสร้างวัดและการตั้งวัดให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504) ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดวิธีการสร้างวัดและการตั้งวัดไว้ว่าในการสร้างวัด ให้ผู้ประสงค์จะสร้างวัดยื่นคำขออนุญาตต่อนายอำเภอท้องที่ที่จะสร้างวัด พร้อมด้วยรายการและเอกสารต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ และเมื่อได้มีการพิจารณา การปรึกษาและการรายงานการขอสร้างวัดโดยหน่วยราชการต่าง ๆ ตามลำดับจนถึงมหาเถรสมาคมเห็นชอบด้วยแล้ว ให้กรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดได้ สำหรับการขอตั้งวัดนั้นเมื่อได้สร้างเสนาสนะขึ้นเป็นหลักฐานพร้อมที่จะเป็นที่พำนักของพระภิกษุสงฆ์ได้แล้ว ให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาทหรือผู้แทนเสนอรายงานการก่อสร้างและจำนวนพระภิกษุที่จะอยู่ประจำไม่น้อยกว่าสี่รูป พร้อมทั้งเสนอนามวัดและนามพระภิกษุผู้สมควรเป็นเจ้าอาวาสเพื่อขอตั้งเป็นวัดต่อนายอำเภอและเมื่อมีการพิจารณา การปรึกษาและการรายงานการขอตั้งวัดโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตามลำดับ จนถึงมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้วกระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา ตามแบบ ว.1ท้ายกฎกระทรวง จากบทบัญญัติของกฎหมายและกฎกระทรวงดังกล่าว จะเห็นได้ว่าวัดที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งหมายความรวมถึงวัดประเภทสำนักสงฆ์ด้วยนั้นหลังจากกรมการศาสนาออกหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดแล้ว ยังจะต้องมีการดำเนินการเพื่อขอตั้งเป็นวัดต่อนายอำเภอและผ่านขั้นตอนการพิจารณา การปรึกษาและการรายงานการขอตั้งวัดโดยหน่วยงานราชการต่าง ๆ ตามลำดับ จนเมื่อมหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบด้วยแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจึงจะประกาศตั้งเป็นวัดในราชกิจจานุเบกษาได้ ดังนั้น วัดโจทก์แม้จะได้รับอนุญาตให้สร้างวัดแล้วแต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการเพื่อขอตั้งเป็นวัดและได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตั้งวัดตามกฎหมาย ย่อมจะถือว่าขณะยื่นฟ้องโจทก์เป็นวัดประเภทสำนักสงฆ์อันจะทำให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share