แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายถูกจำเลยทำร้าย ฟันล่างด้านหน้าหักสี่ซี่ฟันที่เหลือยังใช้เคี้ยวอาหารได้ ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือว่าได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297(3)
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยร่วมกันทำร้ายร่างกายนายเที่ยง สมสนิท ผู้เสียหาย เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหลายแห่งถึงสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗, ๘๓
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตาม
โจทก์จึงฎีกาต่อมาในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยทำร้ายผู้เสียหายทำให้ฟันล่างด้านหน้าหัก ๔ ซี่ อันเป็นการเสียอวัยวะอื่นใด จึงเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๓)
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๓)บัญญัติไว้ว่าที่จะเป็นอันตรายสาหัส ต้องเสีย แขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด เห็นว่าการสูญเสียอวัยวะอื่นใดตามมาตรา ๒๙๗(๓)ต้องเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญต่อร่างกายเทียบเท่ากับแขน ขา มือ เท้าหรือนิ้ว แม้ว่าฟันทั้งหมดในปากรวมกันเป็นอวัยวะสำคัญ เพราะฟันมีหน้าที่เคี้ยวอาหาร ถ้าฟันหักไปหลายซี่เป็นเหตุให้ส่วนที่เหลืออยู่ใช้เคี้ยวอาหารไม่ได้ ก็ถือได้ว่าเป็นการเสียอวัยวะส่วนสำคัญอันเป็นอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๗(๓)แต่คดีนี้ผู้เสียหายแถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่๑๑ กันยายน ๒๕๑๒ ว่า ฟันที่หักได้ใส่ใหม่แล้ว และใช้เคี้ยวอาหารได้ดี ก่อนใส่ฟันก็ยังใช้ฟันที่เหลือเคี้ยวอาหารได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อฟันของผู้เสียหายที่เหลืออยู่ใช้เคี้ยวอาหารได้ การที่ผู้เสียหายเสียฟันไป ๔ ซี่ ยังไม่ถึงขนาดที่จะถือได้ว่าเสียอวัยวะที่มีความสำคัญ หรือเป็นการสูญเสียไปถึงขนาดเทียบเท่าการเสียแขน ขา มือ เท้าหรือนิ้ว ตามที่กฎหมายระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงยังไม่พอที่จะฟังว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ตามความใน มาตรา ๒๙๗(๓)ศาลอุทธรณ์พิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ยกฎีกาโจทก์