คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7488/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส.เจ้ามรดกอ้างว่าที่ดินพิพาทซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ ยังเป็นกรรมสิทธิ์และเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินระงับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1ดังนี้ การที่ผู้ร้องสอดได้ร้องสอดเข้ามาโดยอ้างว่าเป็นทายาทของ ส. ขอแบ่งมรดกเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) เช่นนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดชอบต่อทายาทของเจ้ามรดกทุกคนเสมือนเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 809 ถึง 812,819,823และ 831 ประกอบด้วยมาตรา 1720 ฉะนั้น ผู้ร้องสอดจะใช้สิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อเป็นการ ต่อสู้คดีกับตัวแทนของตนเอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ในขณะที่ตัวแทนหรือโจทก์ในฐานะ ผู้จัดการมรดกกำลังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากบุคคลภายนอก หรือจำเลยทั้งสองอยู่ จึงเป็นการไม่ชอบ อีกทั้งหากศาลฟังว่าที่ดินพิพาทมิได้เป็นทรัพย์มรดก คำร้องของผู้ร้องสอดก็ไม่มีประโยชน์ที่จะได้รับการวินิจฉัยพฤติการณ์จึงยังไม่เป็นการจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่อาจมีอยู่ในชั้นนี้ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำร้องของผู้ร้องสอดเสีย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นทายาทโดยธรรมและเป็นผู้จัดการมรดกของนางแสง นามะสนธิ หรือท่านแสง หรือคุณหญิงแสงศรีสรราชที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 227 ตำบลคลองซอยที่ 2 ฝั่งตะวันออกอำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 47 ไร่ 1 งาน 36 ตารางวาเป็นมรดกของนางแสง ซึ่งนางแสงเคยยกให้เป็นที่นาแก่จำเลยที่ 1 เพียงเพื่อให้วัดใช้เก็บผลประโยชน์จากที่ดินเท่านั้นแต่ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทด้วยการครอบครองปรปักษ์ โดยแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จจนศาลชั้นต้นหลงเชื่อและมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 ด้วยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นไม่มีผลผูกพันโจทก์ ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาอำเภอคลองหลวง ระงับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์แก่จำเลยที่ 1 ให้มีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางแสง นามะสนธิ หรือท่านแสงหรือคุณหญิงแสงศรีสรราชและให้มีคำสั่งว่า พิธีสารระหว่างจำเลยทั้งสองกับการเคหะแห่งชาติฉบับลงวันที่ 2 ธันวาคม 2527 ไม่มีผลผูกพ้นโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของที่ดินติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ไม่ใช่ทายาทนางแสงฟ้องโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำและขาดอายุความไม่มีเหตุผลใด ๆ ที่จะให้การเคหะแห่งชาติระงับการพัฒนาและปรับปรุงที่ดินดังกล่าว
ระหว่างพิจารณา ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความอ้างว่า ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดเป็นทายาทโดยธรรมของนางแสงโดยผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดเป็นเหลนของนางแสง แม้โจทก์จะเป็นผู้จัดการมรดกแต่โจทก์มิได้กระทำเพื่อประโยชน์ของทายาทอื่นโจทก์มีเจตนาเอาที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่ผู้เดียวผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดจึงต้องร้องสอดเข้ามาเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) และขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกได้แก่ผู้ร้องสอดที่ 1 ถึงที่ 9 หนึ่งส่วน และตกได้แก่ผู้ร้องสอดที่ 10และที่ 11 กับพวกอีกหนึ่งส่วนในหกส่วน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดร้องสอดเข้ามาโดยอาศัยสิทธิการเป็นทายาทของนางแสง นามะสนธิ เจ้ามรดก ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่โจทก์ได้ฟ้องคดีนี้ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนางแสง แล้วถือว่าเป็นการฟ้องแทนทายาทอื่น ๆ รวมทั้งผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดด้วยจึงไม่มีเหตุและความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดจะต้องร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้อีก สำหรับคำขอท้ายคำร้องสอดข้อ 3.3เป็นเรื่องที่ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดจะต้องไปว่ากล่าวกับโจทก์ต่างหากนอกจากคดีนี้ จึงยกคำร้องสอดค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องทั้งสิบเอ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องในฐานะผู้จัดการมรดก(ไม่มีพินัยกรรม) ของนางแสง นามะสนธิ เจ้ามรดก ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดก ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 โดยการครอบครองปรปักษ์ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของนางแสง นามะสนธิ เจ้ามรดก ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี สาขาอำเภอคลองหลวง ระงับการจดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 โดยผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดได้ร้องสอดเข้ามาขอแบ่งมรดกเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดชอบต่อทายาทของเจ้ามรดกทุกคนเสมือนเป็นตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 809 ถึง 812, 819,823 และ 831 ประกอบด้วยมาตรา 1720 ฉะนั้น ผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดจะใช้สิทธิร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามประหนึ่งเพื่อเป็นการต่อสู้คดีกับตัวแทนของตนเอง ดังนัยแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 58 วรรคหนึ่ง ในขณะที่ตัวแทนหรือโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกกำลังฟ้องเรียกทรัพย์มรดกจากบุคคลภายนอกหรือจำเลยทั้งสองอยู่ จึงเป็นการไม่ชอบ อีกทั้งการจะฟังว่าทรัพย์มรดกหรือที่ดินพิพาทต้องถูกแบ่งออกเป็นกี่ส่วน มีบุคคลใดบ้างเป็นทายาทก็ต้องหลังจากเสร็จสิ้นกรณีพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดก และหากศาลฟังว่าที่ดินพิพาทมิได้เป็นทรัพย์มรดกอีกต่อไป คำร้องและคำขอท้ายคำร้องของผู้ร้องสอดทั้งสิบเอ็ดก็เป็นอันไม่มีประโยชน์ที่จะได้รับการวินิจฉัย พฤติการณ์จึงยังไม่เป็นการจำเป็นเพื่อให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของตนที่อาจมีอยู่ในชั้นนี้
พิพากษายืน

Share