แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ที่โจทก์ประกาศภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เว้นแต่เมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่โจทก์ประกาศกำหนด ภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว แทนอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปซึ่งขณะทำสัญญาอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 15.25,16.25 ต่อปี และอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไป เสมือนหนึ่งเป็นค่าเสียหายในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระถูกต้องสมควร โจทก์จะเรียกในรูปของดอกเบี้ย ค่าปรับ หรืออย่างอื่นก็ได้ เมื่อมีลักษณะดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขเป็นเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลอุทธรณ์ย่อมวินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราที่ศาลอุทธรณ์เห็นสมควรกำหนดย้อนหลังไปจนถึงวันผิดนัดชำระหนี้ เพื่อให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยน้อยลงโดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ก็ได้ เพราะเป็นการที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
การพิจารณาว่าเบี้ยปรับตามสัญญามีอยู่จำนวนเท่าใด จะต้องนำอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดในขณะผิดนัด หักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยในขณะที่ไม่ผิดนัด แล้วศาลจึงพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยจากส่วนต่างดังกล่าวข้างต้น
ในการกู้ยืมหรือกู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งโจทก์ประกาศคิดก่อนปรับเป็นดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.5 และ 15.75 ต่อปี และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี การที่ศาลล่างทั้งใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับ โดยพิพากษาให้จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาขณะที่ไม่ผิดนัด ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องไปเสียทีเดียว เมื่อพิจารณาสภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินของประเทศ ประกอบกับทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้วศาลฎีกาสมควรลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด คงเหลือร้อยละ 16 ต่อปี
โจทก์ฟ้องขอบังคับจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 461 และเลขที่ 2378พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้ตามขอแต่ในคำพิพากษาได้ระบุหมายเลข น.ส.3 ก. จากเลขที่ 461 เป็นเลขที่ 462 ซึ่งเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้เงินและตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี รวมจำนวน 7,644,714.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,041,203.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 461 และเลขที่ 2378 พร้อมสิ่งปลูกสร้างและให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 7,64714.49 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 7,041,203.30 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากไม่ชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินน.ส.3 ก. เลขที่ 462, 2378 พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินพอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 7,041,203.30บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 5,101,393.12 บาท นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 เป็นต้นไป และในต้นเงิน 1,939,810.18 บาท นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมาว่าจำเลยทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ที่โจทก์ประกาศภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด เว้นแต่เมื่อจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไข จำเลยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่โจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว แทนอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งขณะทำสัญญาอัตราสูงสุดเท่ากับร้อยละ 15.25, 16.25 ต่อปี และอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ต่อมาจำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาทั้งสองฉบับ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าข้อตกลงให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามที่โจทก์ประกาศนั้นเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นการกำหนดดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าทั่วไปเสมือนหนึ่งเป็นค่าเสียหายในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระถูกต้องสมควร โจทก์จะเรียกในรูปของดอกเบี้ย ค่าปรับหรืออย่างอื่นก็ได้ เมื่อมีลักษณะดังกล่าวย่อมถือว่าเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 ดังนั้น หากเห็นว่าสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ปัญหาต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า ศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวย้อนหลังไปถึงวันผิดนัดชำระหนี้ ทำให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยน้อยลงทั้ง ๆ ที่โจทก์และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว เป็นการชอบหรือไม่เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้าสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขเป็นเบี้ยปรับ ถ้าสูงเกินส่วน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ การที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยรับผิดดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจึงเป็นการใช้ดุลพินิจตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดอุทธรณ์
กรณีมีปัญหาสมควรวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้” เช่นนี้ การจะพิจารณาว่าเบี้ยปรับตามสัญญามีอยู่จำนวนเท่าใดจะต้องนำอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดในขณะผิดนัด หักออกด้วยอัตราดอกเบี้ยในขณะที่ไม่ผิดนัด แล้วศาลจึงพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยจากส่วนต่างดังกล่าวข้างต้นคดีนี้ปรากฏว่า ในการกู้ยืมหรือกู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ซึ่งโจทก์ประกาศคิดก่อนปรับเป็นดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดในอัตราร้อยละ 15.5 และ 15.75 ต่อปี และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี เช่นนี้ การที่ศาลล่างทั้งสองใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับ พิพากษาให้จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัด อัตราร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญาขณะที่ไม่ผิดนัด ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องไปเสียทีเดียว เมื่อพิจารณาสภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินของประเทศ ประกอบกับทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายสมควรลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดคงเหลือร้อยละ 16 ต่อปี
อนึ่งเนื่องจากคดีนี้ โจทก์ฟ้องขอบังคับจำนองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 461และเลขที่ 2378 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิบังคับจำนองได้ตามขอ แต่ในคำพิพากษาได้ระบุหมายเลข น.ส.3 ก. จากเลขที่ 461เป็นเลขที่ 462 ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากการพิมพ์ผิดพลาด ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน จำนวน 7,041,203.30 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงิน 5,101,393.12 บาท นับแต่วันที่ 10 เมษายน 2540 และในต้นเงิน 1,939,810.18 บาท นับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 461 และเลขที่ 2378 พร้อมสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วนนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์