คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7475/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1388 เพ่งเล็งถึงความสำคัญของที่ดินที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 มาจาก ส. เมื่อวันที่ 25สิงหาคม 2520 จนถึงวันที่ ส. ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยทั้งสามเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 เป็นระยะเวลาเพียง 8 ปีเศษ แต่หลังจากนั้นโจทก์ยังคงใช้ทางเดินในที่พิพาทติดต่อมาในช่วงที่จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทอีก 2 ปีเศษถือได้ว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามมีทางเดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงของโจทก์มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ย่อมเกิดภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1401

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 จากจำเลยที่ 3 และนายสุทัศน์ ที่ดินแปลงนี้มีที่ดินแปลงอื่นล้อมรอบอยู่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะได้ทางเดียวซึ่งจำเลยที่ 3 และนายสุทัศน์ ทำไว้ในที่ดินโฉนดเลขที่ 21505เป็นทางกว้าง 6 เมตร ยาว 40 เมตร และกว้าง 8 เมตร ยาว 26 เมตรซึ่งโจทก์ใช้ทางดังกล่าวตลอดมาจนถึงเดือนมกราคม 2531 ทางจึงตกเป็นภารจำยอมของที่ดินโจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 21505 เป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสาม วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยทั้งสามก่อกำแพงอิฐบล็อกสูง 2 เมตร ยาว 32 เมตร ทำประตูเหล็กกว้าง 8 เมตร และนำแท็งก์น้ำ ท่อซีเมนต์กระเบื้องและเศษวัสดุก่อสร้างมาวางในทางภารจำยอมของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายคิดเป็นค่าเสียหายเดือนละ 2,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า ทางกว้าง6 เมตร ยาว 40 เมตร และทางกว้าง 8 เมตร ยาว 26 เมตร ในที่ดินโฉนดเลขที่ 21505 เป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 24324ของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม ให้จำเลยทั้งสามรื้อกำแพงอิฐบล็อก ประตูเหล็กและสิ่งปลูกสร้างในทางภารจำยอม ขนย้ายท่อซีเมนต์ แท็งก์น้ำเศษวัสดุก่อสร้างออกจากทางภารจำยอม ห้ามจำเลยทั้งสามนำทรัพย์สินอื่นใดมากองหรือปลุกสร้างในทางภารจำยอมอีก ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 3 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 21505 ออกเป็นแปลงเล็ก ๆ โดยมิได้เจตนาให้ที่ดินส่วนใดมีสภาพเป็นถนนหรือทางเดิน โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24314 และ24324 โดยเจตนาใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 24314 เป็นทางผ่านสู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 โจทก์ไม่เคยใช้ที่ดินส่วนใดในโฉนดเลขที่ 21505เป็นทางออกสู่ถนนศรีสุริยวงศ์ จำเลยที่ 3 สร้างประตูเหล็กกว้าง5.5 เมตร สูง 2.25 เมตร ตั้งแต่ปี 2520 และสร้างกำแพงคอนกรีตในเดือนพฤษภาคม 2530 เพื่อป้องกันทรัพย์สิน โจทก์อ้างว่าที่ดินเป็นทางภารจำยอม แต่ไม่มีการจดทะเบียนไว้ จึงยกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งซื้อที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 21505ที่ปรากฏตามรูปแผนที่ท้ายฟ้อง ในเอกสารหมาย 1 ภายในเส้นสีแดงซึ่งมีความกว้าง 6 เมตร ยาว 40 เมตร และกว้าง 8 เมตร ยาว 26 เมตรเป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสามรื้อประตูเหล็กขนย้ายท่อซีเมนต์แท็งก์น้ำและเศษวัสดุก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการใช้ทางภารจำยอมออกไปเสียจากทางภารจำยอม และห้ามมิให้จำเลยทั้งสามนำทรัพย์สินอื่นใดมากองหรือปลูกสร้างให้เป็นอุปสรรคหรือกีดขวางการใช้ทางภารจำยอมอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสามไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอม หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทน ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 500 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะรื้อประตูเหล็ก ขนย้ายท่อซีเมนต์ แท็งก์น้ำ และเศษวัสดุก่อสร้างที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการใช้ทางภารจำยอมออกไปเสียจากทางภารจำยอม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า นับแต่โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 24324 มาจาก ส. เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2520จนถึงวันที่ ส. ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2529 เป็นระยะเวลาเพียง 8 ปีเศษ โจทก์จะนำเอาระยะเวลาช่วงที่ ส. เป็นเจ้าของ 8 ปีเศษ มารวมกับระยะเวลาช่วงที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ 2 ปีเศษ เพื่อให้ได้ระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีไม่ได้นั้น ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้อุทธรณ์ในข้อนี้แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัย เห็นว่าฎีกาของโจทก์ข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบมาเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และ 1388 กฎหมายเพ่งเล็งถึงความสำคัญของที่ดินที่เป็นสามยทรัพย์และภารยทรัพย์ ไม่ใช่ตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยข้างต้นว่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามมีทางเดินเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินแปลงของโจทก์มาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ย่อมเกิดภารจำยอมโดยอายุความได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401
พิพากษายืน

Share