คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7470/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยมุ่งแต่คำนึงถึงความสะดวกของตนฝ่ายเดียวโดยมิได้สนใจต่อพันธะที่ตนมีต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีชอบแล้ว
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้กองมรดกของผู้ตายมีผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีการับวินิจฉัยให้
แม้กองมรดกของผู้ตายจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้วก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของทายาทในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดก
แม้สัญญาประกันภัยจะเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งออกแบบและควบคุมโดยกรมการประกันภัย แต่คู่สัญญาอาจทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติม โดยทำเป็นหนังสือแนบท้ายไว้ได้เมื่อข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยระบุไว้ชัดว่า ในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์แล้วได้รถยนต์คืนมาผู้เอาประกันภัยมีสิทธิขอรับรถคืน โดยคืนเงินที่ได้รับชดใช้ไปทั้งหมดแก่ผู้รับประกันภัย ถ้ารถยนต์นั้นเกิดความเสียหาย ผู้รับประกันภัยต้องจัดการซ่อมก่อนคืนโดยไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทซึ่งเสียหายให้โจทก์
โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานเป็นผู้ทำละเมิดชิงทรัพย์เอารถยนต์คันพิพาทไป หากแต่ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยทั้งตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ปรากฏข้อตกลงชัดแจ้งว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองถึงความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ดังนี้จำเลยหาต้องรับผิดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของนายสมศักดิ์ ลิ่วเจริญลาภผู้เอาประกันภัยรถยนต์ไว้ต่อจำเลย โดยจำเลยรับประกันภัยรถยนต์เก๋งรับจ้างไว้จากนายสมศักดิ์ ลิ่วเจริญลาภ ในประเภทคุ้มครองรถยนต์คันที่เอาประกันภัยเฉพาะลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ทั้งคันวงเงิน 350,000 บาท และในประเภทประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลคุ้มครองบุคคลที่กำลังขับรถยนต์ หรือผู้ขับที่กำลังขึ้นหรือลงจากรถยนต์คันที่เอาประกันภัย วงเงิน 50,000 บาท มีอายุสัญญาประกันภัย1 ปี นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2538 เมื่อวันที่ 3มกราคม 2538 เวลาประมาณ 3 นาฬิกา นายสมศักดิ์ผู้เอาประกันภัยขณะขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยถูกคนร้ายฆ่าตาย และถูกชิงทรัพย์เอารถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปทั้งคัน แล้วคนร้ายทำให้รถคันที่เอาประกันภัยเสียหายโดยการเปลี่ยนแปลงสีรถ แก้ไขเลขเครื่องยนต์และขับฝ่าด่านตรวจค้นของเจ้าพนักงานตำรวจพลิกคว่ำเสียหายพังยับเยินจำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยต้องจัดการซ่อมแซมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยก่อนส่งคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ต้องนำรถยนต์ไปซ่อมเองเสียค่าซ่อมไปเป็นเงิน 130,540 บาท และโจทก์ยังสำรองจ่ายค่าติดตามรถคืนไปอีกไม่น้อยกว่า 6,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง6,000 บาท ผลจากการชิงทรัพย์ ประกอบกับการจัดการสินไหมทดแทนที่ผิดพลาดและบ่ายเบี่ยงประวิงเวลาของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยวันละไม่ต่ำกว่า 600 บาท นับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่ซ่อมเสร็จเป็นเวลา440 วัน คิดเป็นเงินค่าขาดประโยชน์ 264,000 บาท และจำเลยต้องรับผิดในส่วนประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคลอีก 50,000 บาทรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 450,540 บาท จำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 23 เดือนเศษ แต่โจทก์ขอคิดเพียง 23 เดือน เป็นเงินดอกเบี้ย 64,765 บาท รวมเป็นเงิน515,305 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์515,305 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน450,540 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า รถยนต์คันที่เอาประกันภัยมิได้สูญหายหรืออาจถือได้ว่า สูญหายไปชั่วขณะหนึ่งแล้วได้คืนมา จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชดใช้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือทายาท และค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 30,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกค่าประกันภัยอุบัติเหตุเพราะเป็นการฆาตกรรมไม่อยู่ในเงื่อนไขความคุ้มครอง ค่าติดตามรถคืนหากมีก็ไม่เกิน 600 บาท ก่อนตายผู้เอาประกันภัยมีรายได้วันละไม่เกิน 100 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 236,540 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์2538 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน186,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ตายทำสัญญาประกันภัยรถยนต์คันพิพาทไว้กับจำเลยตามแบบกรมธรรม์เอกสารหมาย จ.5 มีข้อตกลงว่า จำเลยจะรับผิดชดใช้ราคารถยนต์ในกรณีที่ถูกคนร้ายลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์โดยจำกัดวงเงินไว้จำนวน 350,000 บาท ระหว่างอยู่ในระยะเวลาประกันภัย ผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายแล้วชิงทรัพย์เอารถยนต์คันพิพาทไป ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันพิพาทมาได้เพราะคนร้ายขับรถฝ่าด่านตรวจพลิกคว่ำเสียหาย

ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อแรกมีว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและทำการสืบพยานโจทก์ไป ทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่มีโอกาสถามค้านพยานโจทก์ เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่าวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 นั้น ทนายโจทก์และทนายจำเลยตกลงนัดวันสืบพยานไว้ล่วงหน้าจากนัดครั้งก่อนไป2 นัด คือในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 ธันวาคม 2540 จึงชอบที่ทนายจำเลยจะเอาใจใส่ไม่นัดความซ้ำซ้อนกับคดีนี้ หากจะพลั้งเผลอไปนัดวันซ้ำซ้อนกับคดีนี้เข้าก็ควรที่จะรีบร้อนขอเลื่อนคดีเสียแต่เนิ่น ๆเพราะศาลชั้นต้นในคดีนี้อาจไม่ให้เลื่อนคดีก็ได้ ซึ่งกรณีเช่นนี้ทนายจำเลยก็ยังมีทางไปร้องขอเลื่อนคดีต่อศาลชั้นต้นในคดีอื่นที่ตนนัดซ้ำซ้อนกับคดีนี้ไว้ได้ แต่ปรากฏว่าก่อนถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2541 นั้น ยังมีวันนัดสืบพยานโจทก์อีกวันหนึ่งในวันที่ 22 มกราคม 2541 แต่ทนายจำเลยก็หาได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนการพิจารณาคดีต่อศาลชั้นต้นไม่ ข้อที่อ้างว่าทนายจำเลยได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลชั้นต้นถึงเหตุขัดข้องในวันนัดดังกล่าวนั้น ทนายจำเลยก็ยอมรับว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ทนายจำเลยทำเป็นคำร้องยื่นเข้ามาในสำนวน แต่ทนายจำเลยก็มิได้นำพาที่จะยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใดไม่ กลับอ้างว่า ในทางปฏิบัติที่ผ่านมาไม่สู้จะมีการทำเช่นนี้ เพิ่งจะมอบหมายให้ผู้รับมอบฉันทะมายื่นคำร้องขอเลื่อนคดีในวันนัดครั้งหลัง โดยอ้างว่าทนายจำเลยติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และในวันใกล้เคียงกันก่อนหน้านี้ทนายจำเลยก็ติดว่าความอยู่ที่ศาลจังหวัดเชียงรายด้วย ทนายจำเลยจึงจำต้องขอเลื่อนคดีเพื่อสะดวกแก่การเดินทางไปขึ้นศาลทางภาคเหนือในคราวเดียวกัน จึงแสดงให้เห็นว่าทนายจำเลยมุ่งแต่คำนึงถึงความสะดวกของตนถ่ายเดียวเป็นที่ตั้ง มิได้สนใจต่อพันธะที่ตนมีต่อศาลและคู่ความฝ่ายอื่นที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยเลื่อนคดีและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้กองมรดกของผู้ตายมีผู้จัดการมรดกแล้ว ทายาทอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้จัดการมรดกจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ ซึ่งปัญหานี้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ เพิ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา อันเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กองมรดกของผู้ตายจะมีผู้จัดการมรดกอยู่แล้ว ก็ไม่เป็นการตัดอำนาจของทายาทในอันที่จะใช้สิทธิเรียกร้องต่อบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกได้

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 3.5.3 มีข้อตกลงว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์ จำเลยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มตามจำนวนที่จะต้องรับผิดตามสัญญา โดยผู้เอาประกันภัยต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้แก่จำเลย ในกรณีได้รับรถยนต์กลับคืนมา ข้อ 3.5.3.1 มีข้อตกลงว่าจำเลยยอมให้ผู้เอาประกันภัยใช้สิทธิขอรับรถยนต์คืน โดยผู้เอาประกันภัยต้องคืนเงินที่ได้รับชดใช้ไปทั้งหมดให้แก่จำเลย ถ้ารถยนต์นั้นเกิดความเสียหายจำเลยต้องจัดการซ่อมโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยก่อนคืน จำเลยฎีกาว่า สัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.5เป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งออกและควบคุมโดยกรมการประกันภัยเพื่อให้บริษัทผู้รับประกันภัยรับผิดตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันได้เสียเบี้ยประกันภัย แต่หากผู้เอาประกันภัยไม่ได้ซื้อความคุ้มครองจะยกเอาเงื่อนไขแห่งสัญญามาใช้เต็มรูปแบบมิได้ คดีนี้ผู้เอาประกันภัยซื้อความคุ้มครองรถยนต์เฉพาะประกันภัยค้ำจุนกับรถหายไว้เท่านั้นไม่ได้ซื้อความคุ้มครองในส่วนการชนไว้ด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในการซ่อมนั้น เห็นว่า นายอภิรักษ์ รุ่งปลาทอง หัวหน้า ส่วนอุบัติเหตุรถยนต์ของจำเลยเบิกความว่า สัญญาประกันภัยตามเอกสารหมาย จ.5ข้อ 3.5.3.1 ไม่มีข้อความระบุว่า ให้ใช้สำหรับการประกันภัยในประเภท 1เท่านั้น นายณรงค์ศักดิ์ วุฒิวิสุทธิ์ นักวิชาการ 6 กรมการประกันภัยพยานโจทก์เบิกความว่า กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมกรมธรรม์ ผู้เอาประกันภัยและผู้รับประกันภัยต้องทำหนังสือแนบท้ายไว้ด้วย ความเสียหายของรถยนต์คันพิพาทซึ่งเกิดจากคนร้ายขับและพลิกคว่ำนั้น ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการลักทรัพย์ชิงทรัพย์ หรือปล้นทรัพย์ มิใช่อุบัติเหตุ ซึ่งตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองด้วย เห็นได้ว่า แม้สัญญาประกันภัยจะเป็นสัญญาสำเร็จรูปซึ่งออกแบบและควบคุมโดยกรมการประกันภัยแต่คู่สัญญาอาจทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเพิ่มเติมโดยทำเป็นหนังสือแนบท้ายไว้ได้ เมื่อข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยตามเอกสารหมายจ.5 ระบุไว้ชัดว่าในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ แล้วได้รถยนต์คืนมา ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิขอรับรถคืน โดยคืนเงินที่ได้รับชดใช้ไปทั้งหมดแก่ผู้รับประกันภัยถ้ารถยนต์นั้นเกิดความเสียหาย ผู้รับประกันภัยต้องจัดการซ่อมก่อนคืนโดยไม่มีข้อยกเว้นความรับผิดไว้ จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อค่าซ่อมรถยนต์คันพิพาทซึ่งเสียหายให้โจทก์

ปัญหาต่อไปตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์หรือไม่เห็นว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดฐานเป็นผู้ทำละเมิดชิงทรัพย์เอารถยนต์คันพิพาทไป หากแต่ฟ้องให้รับผิดตามสัญญาประกันภัยทั้งตามกรมธรรม์ประกันภัยก็ปรากฏข้อตกลงชัดแจ้งในข้อ 3.7.5ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองถึงความเสียหายอันเกิดจากการขาดการใช้รถยนต์ ดังนี้ จำเลยหาต้องรับผิดใช้ค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ไม่

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 136,540 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share