คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 747/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยต่างได้ครอบครองที่ดินมีโฉนดมาเป็นส่วนสัดจนต่างได้กรรมสิทธิแล้ว การที่จำเลยเพีงแต่ยอมให้โจทก์มีชื่อในโฉนดเป็นเจ้าของรวมกัน เมื่อโจทก์จำเลยโอนชื่อในโฉนดรับมรดก เช่นนี้หาได้ลบล้างการครอบครองอันแท้จริงนั้นไม่ และกรณีมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยสละสิทธิการครอบครองส่วนของตนให้โจทก์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินโฉนดที่ ๔๖๙๘ เนื้อที่ ๒๗ ไร่เศษ ให้โจทก์ ๑ ใน ๓ ส่วน จำเลยต่อสู้ว่าโจทก์มีส่วนได้ตามเนื้อที่ของตนเพียง ๓ ไร่
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทโฉนดที่ ๔๖๙๘ ทางด้านทิศใต้เนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ เป็นของโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้น สั่งรับฎีกาเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ฟังมา เมื่อศาลอุทธรณ์เชื่อตามหลักฐานว่าโจทก์ครอบครองเป็นเจ้าของที่พิพาทมาเพียง ๓ ไร่เศษ ส่วนอีก ๒๔ ไร่จำเลยครอบครองจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ส่วนของผู้ใดเท่าใดจึงต้องถือตามข้อเท็๋จจริงที่ได้ความมานั้นเป็นสำคัญ เพราะในบันทึกเปรียบเทียบมรดกที่ดินก็ไม่ได้ระบุว่าทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งรับมรดกคนละเท่า ๆ กัน คงบันทึกไว้แต่เพียงว่ารับมรดกรวมกันเท่านั้นเอง กรณีเช่นนี้หาใช่จำเลยสละสิทธิการครอบครองส่วนของตนให้โจทก์อย่างใดไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะต้องบอกล้างการโอนมรดกในโฉนด โดยที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า ตามข้อเท็จจริงคู่ความต่างครอบครองที่ดินรายนี้เป็นสัดส่วนสัดจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว การลงชื่อในโฉนดมีกรรมสิทธิ์รวมกันย่อมไม่ลบล้างการครอบครองอันแท้จริงได้
พิพากษายืน

Share