คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 746/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การไฟฟ้านครหลวงโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ มีวัตถุประสงค์ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนเป็นสาธารณูปโภคและได้รับทุนในการดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดิน จึงมิใช่พ่อค้าตามมาตรา 165(1)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่พนักงานของโจทก์จดหน่วยไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าโดยไม่ได้คูณด้วย 10 ตามลักษณะของเครื่องวัดไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้ง ทำให้จำเลยชำระค่าไฟฟ้าให้โจทก์ขาดไปนั้น เมื่อมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 โจทก์คำนวณหน่วยกระแสไฟฟ้าที่จำเลยใช้ผิดไปเพราะไม่ได้นำตัวเลขในเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาคูณด้วย 10 ตามลักษณะของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลย จำเลยได้รับประโยชน์ในการใช้กระแสไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณผิด ไม่ใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยโดยไม่อิดเอื้อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณขาดไปและจะถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยใช้สิทธิไม่สุจริตหาได้ไม่ คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์คิดขาดไประหว่างเดือนธันวาคม 2505 จนถึงเดือนมกราคม 2525 สำนวนหลังโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์คิดขาดไปในระหว่างวันที่13 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากัน ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีจึงไม่ใช่ฟ้องเรื่องเดียวกันและโดยอาศัยเหตุเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นสั่งรวมการพิจารณาพิพากษาสำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นทายาทโดยธรรมของนายสวัสดิ์ เหตระกูล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2500นายสวัสดิ์ได้ขอใช้ไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อติดตั้งที่บ้านเลขที่893/14 ถนนเจริญกรุง ที่จำเลยที่ 10 เป็นผู้เช่า โจทก์ตกลงและติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ เอ็ม/18-3932 ขนาด 5 แอมแปร์และตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2505 เพิ่มการใช้ไฟฟ้าเป็นขนาด 50/5 แอมแปร์ จำนวนหน่วยไฟฟ้าที่ใช้ไปจริงคิดโดยนำจำนวนหน่วยไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคูณด้วย 10 แต่พนักงานของโจทก์จดหน่วยไฟฟ้าจากเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าโดยไม่ได้คูณด้วย 10นับตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนธันวาคม 2505 จนถึงค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม 2525 ทำให้จำเลยชำระค่าไฟฟ้าให้โจทก์ขาดไป 1,220,868 หน่วย คิดเป็นเงิน 640,289.31 บาท ขอให้จำเลยร่วมกันใช้เงินจำนวน 645,815.09 บาท และดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 640,289.31 บาท นัดถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ให้การว่า จำเลยที่ 10ชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์เรียกเก็บทุกครั้งการที่โจทก์เรียกเก็บค่าไฟฟ้าย้อนหลังจากจำเลยโดยอ้างว่าพนักงานของโจทก์ไม่ได้คูณจำนวนหน่วยการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องวัดด้วย 10 ก่อนนั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยไม่ได้ยินยอมและรับรู้ด้วย และเป็นความประมาทเลินเล่อของพนักงานโจทก์เองฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 10 ให้การว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้เช่าอาศัยบ้านเลขที่ 893/14 ตามฟ้อง แต่ไม่มีหน้าที่ชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 10 ไม่เคยติดค้างชำระค่าไฟฟ้าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 เป็นทายาทโดยธรรมของนายสวัสดิ์ เหตระกูลจำเลยที่ 10 เป็นผู้เช่าอาศัยบ้านเลขที่ 893/14 ถนนเจริญกรุงเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าและต้องชำระค่าไฟฟ้าในบ้านดังกล่าว เมื่อวันที่ 23มิถุนายน 2500 นายสวัสดิ์ขอใช้ไฟฟ้าจากโจทก์เพื่อติดตั้งที่บ้านดังกล่าว โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ เอ็ม/18-3932ขนาด 5 แอมแปร์ ให้ ต่อมานายสวัสดิ์ขอเพิ่มการใช้ไฟฟ้าเป็นขนาด50/5 แอมแปร์ และเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2525 โจทก์พบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่บ้านดังกล่าวเดินช้ากว่ามาตรฐาน50.57 เปอร์เซ็นต์ จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าไฟฟ้าในจำนวนหน่วยที่ขาดแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2525 ถึงวันที่ 29ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นวันเปลี่ยนเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าใหม่รวมเป็นเงิน 33,958.66 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายสวัสดิ์ เหตระกูล และจำเลยที่ 10 ร่วมกันรับผิดชดใช้เงินจำนวน 36,615.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 33,958.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7ที่ 8 และที่ 9 ให้การว่า บ้านเลขที่ 893/14 เป็นของนายสวัสดิ์ที่ให้จำเลยที่ 10 เช่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 9ไม่ได้เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในบ้านดังกล่าว นายสวัสดิ์ขอติดตั้งไฟฟ้าเพื่อให้จำเลยที่ 10 เป็นผู้ใช้ โจทก์เรียกเก็บเงินค่าไฟฟ้าจากจำเลยที่ 10 โดยส่งใบเสร็จรับเงินเรียกเก็บจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 10 ที่ธนาคารศรีนคร จำกัด สาขาบางรัก จำเลยที่ 10 ชำระค่าไฟฟ้าให้โจทก์ตามใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นการชำระหนี้ให้โจทก์สมบูรณ์แล้ว การที่โจทก์คิดค่าไฟฟ้าผิดพลาดเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับสำนวนแรกขอให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 10 ให้การว่า ที่บ้านดังกล่าวจำเลยที่ 10 ไม่ได้ใช้ไฟฟ้ามากดังที่โจทก์คำนวณ จำเลยที่ 10ชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ตามที่โจทก์เรียกเก็บเรียบร้อยแล้วพนักงานของโจทก์ประมาทเลินเล่อเองฟ้องโจทก์ขาดอายุความและเป็นฟ้องซ้ำหรือฟ้องซ้อนกับสำนวนคดีแรกจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสิบร่วมกันใช้เงินจำนวน 246,062.21 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้ยกฟ้องโจทก์ในสำนวนคดีหลัง คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกโจทก์และจำเลยที่ 10 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยทั้งสิบตามสำนวนคดีหลังร่วมกันชำระเงินค่ากระแสไฟฟ้าที่เครื่องวัดเดินช้าแก่โจทก์เป็นเงิน 36,615.99 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในเงินต้น 33,958.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 10 ฎีกาประการที่สามว่าโจทก์จำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชน จึงอยู่ในฐานะพ่อค้าการฟ้องเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของ (กระแสไฟฟ้า) จึงมีอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีวัตถุประสงค์ในการจ่ายกระแสไฟฟ้าแก่ประชาชนอันเป็นการสาธารณูปโภคและได้รับทุนในการดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดินจึงมิใช่เป็นพ่อค้าตามความในมาตรา 165(1) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าดังกล่าว เมื่อมิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องถือว่ามีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ดังนั้นฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าไฟฟ้าจากจำเลยในส่วนที่ไม่เกิน 10 ปีก่อนวันฟ้องจึงยังไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยที่ 10 ฎีกา
จำเลยที่ 10 ฎีกาประการที่ห้าว่า จำเลยที่ 10 ได้ชำระค่าไฟฟ้าตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์เรียกเก็บโดยโจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้โดยมิอิดเอื้อน ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้รับชำระหนี้เพื่อระยะก่อน ๆนั้นแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าไฟฟ้าจากจำเลยย้อนหลังตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์คำนวณหน่วยกระแสไฟฟ้าที่จำเลยที่ 10ใช้ผิดไปเพราะไม่ได้นำตัวเลขในเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้ามาคูณด้วย10 ตามลักษณะของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้งให้จำเลยที่ 10และจำเลยที่ 10 ได้รับประโยชน์ในการใช้กระแสไฟฟ้าที่โจทก์คำนวณผิด หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยที่ 10 โดยไม่อิดเอื้อนดังที่จำเลยที่ 10 ฎีกาไม่ จำเลยที่ 10จึงต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 10ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 10 ฎีกาประการที่หกว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองสำนวนนี้เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำกัน ศาลฎีกาเห็นว่า คดีสำนวนแรกโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์คิดขาดไประหว่างเดือนธันวาคม2505 จนถึงเดือนมกราคม 2525 แต่สำนวนหลังโจทก์ฟ้องเรียกค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์คิดขาดไประหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2525ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นคนละช่วงเวลากัน ดังนั้นฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีจึงมิใช่ฟ้องเรื่องเดียวกัน และโดยอาศัยเหตุเดียวกันไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำดังที่จำเลยที่ 10 ฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 10 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share