คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7453/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นำจำเลยที่ 2 และ ด. มาที่เกิดเหตุแล้วรออยู่ จากนั้นบุคคลทั้งสองได้ปีนกำแพงเข้าไปแล้วลักลวดทองแดงของกลางภายในบริษัทผู้เสียหายนั้น เห็นได้ว่าบริเวณที่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่มีการลักทรัพย์ประมาณ 70 เมตร ไม่สามารถมองเห็นภายในบริษัทผู้เสียหายที่เกิดเหตุได้ และไม่สามารถช่วยเหลือ ด. และจำเลยที่ 2 ได้ทันท่วงที ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่ ด. และจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของบริษัทผู้เสียหาย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกก่อนที่ ด. และจำเลยที่ 2 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของ ด. และจำเลยที่ 2
คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 และกรณีนี้เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลดโทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ด้วย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่าโจทก์ เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่า ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (4) (7) (11), 357, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (4) (7) วรรคสาม (ที่ถูกวรรคสอง), 83 จำคุกคนละ 3 ปี ยกฟ้องความผิดฐานรับของโจร (ที่ถูก คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายปีนข้ามกำแพงของบริษัทผู้เสียหายอันเป็นช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้าแล้วลักลวดทองแดง 1 ม้วน ราคา 3,500 บาท ของบริษัทผู้เสียหายไป ตำรวจจับจำเลยทั้งสองและนายดุลยเดช และยึดลวดทองแดงที่คนร้ายลักไปเป็นของกลางได้ที่บริเวณที่ว่างซึ่งห่างจากกำแพงบริษัทผู้เสียหาย 70 เมตร นำตัวส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี คดีในส่วนของนายดุลยเดชและจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยหรือไม่ เห็นว่า สิบตำรวจเอกกัมปนาทเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เคยรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ย่อมไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ทั้งได้เบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยไม่ปรากฏเหตุให้ระแวงว่าพยานจะแกล้งเบิกความเพื่อปรักปรำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับโทษ คำเบิกความของพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โจทก์ยังมีนายสุพัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทผู้เสียหายมาเบิกความยืนยันว่าพยานลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม ในช่องผู้เสียหายชี้ให้จับกุมด้วยตามบันทึกการจับกุมก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพซึ่งลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏในเอกสารดังกล่าวก็มีลักษณะเหมือนกับลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 ที่ปรากฏในเอกสารคดีนี้ นายสุพัฒน์และนายสังคม พยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยบริษัทผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ถูกตำรวจควบคุมตัวในที่ถูกจับกุมนั้นพยานทั้งสองไม่เห็นจำเลยที่ 1 มีท่าทางเหมือนคนเมาสุรา จึงไม่มีข้อให้ระแวงว่า จำเลยที่ 1 เมาสุราและนั่งอยู่ที่ม้านั่งจนไม่รู้เรื่องที่จำเลยที่ 2 และนายดุลยเดชเข้าไปลักลวดทองแดงของกลางในบริษัทผู้เสียหายและแม้นายสังคมจะเบิกความว่าคนที่วิ่งหลบหนีคือจำเลยที่ 2 ไม่ใช่จำเลยที่ 1 ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของสิบตำรวจเอกกัมปนาทนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนายสุพัฒน์ว่า พยานตามนายสังคมออกไปนอกบริษัทผู้เสียหายและเห็นตำรวจ 2 นาย จากสถานีตำรวจนครบาลบางโพงพางบางส่วนควบคุมชาย 2 คน ซึ่งก็คือจำเลยที่ 1 และนายดุลยเดชไว้ที่ริมถนน อีกส่วนหนึ่งกำลังวิ่งไล่จับชายอีกคนคือจำเลยที่ 2 ที่วิ่งหนีลงไปในสระน้ำ อันแสดงว่านายสุพัฒน์และนายสังคมเห็นตำรวจวิ่งไล่จับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากที่พยานผู้จับกับพวกได้ตรวจค้นพบลวดทองแดงของกลางที่จำเลยที่ 1 ใช้เท้าเหยียบไว้ขณะที่นั่งอยู่บนแคร่ไม้แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้วิ่งหลบหนีไปคนละทางแต่จำเลยที่ 1 ถูกจับก่อนแล้วนำมาควบคุมพรัอมกับนายดุลยเดช นายสังคมและนายสุพัฒน์จึงไม่เห็นขณะที่จำเลยที่ 1 วิ่งหลบหนีไปพร้อมกับจำเลยที่ 2 ก็เป็นได้ คำเบิกความของพยานโจทก์ในส่วนนี้จึงหาได้แตกต่างกันจนถึงขนาดทำให้คำเบิกความของสิบตำรวจเอกกัมปนาทขาดน้ำหนักไปแต่อย่างใดไม่ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นำจำเลยที่ 2 และนายดุลยเดชมาที่เกิดเหตุแล้วรออยู่ จากนั้นบุคคลทั้งสองได้ปีนกำแพงเข้าไปแล้วลักลวดทองแดงของกลางภายในบริษัทผู้เสียหายนั้น เห็นได้ว่าบริเวณที่จำเลยที่ 1 รออยู่ห่างจากจุดที่มีการลักทรัพย์ประมาณ 70 เมตร ไม่สามารถมองเห็นภายในบริษัทผู้เสียหายที่เกิดเหตุและไม่สามารถช่วยเหลือนายดุลยเดชและจำเลยที่ 2 ได้ทันท่วงทีทั้งไม่ปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการเอาทรัพย์ของบริษัทผู้เสียหายไป หรือให้ความร่วมมือโดยใกล้ชิดกับการที่นายดุลยเดชและจำเลยที่ 2 ลักทรัพย์ของบริษัทผู้เสียหายจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการช่วยเหลือและให้ความสะดวกก่อนที่นายดุลยเดชและจำเลยที่ 2 กระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของนายดุลยเดชและจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน แต่เนื่องจากคำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาลดโทษตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบ มาตรา 225 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (4) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 เมื่อลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว สำหรับจำเลยที่ 1 คงให้จำคุก 1 ปี 4 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 คงให้จำคุก 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 352 ให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้เงิน 1,882,171 บาท แก่โจทก์

Share