คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อนโจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1 ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบมาตรา 247 บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซม จำเลยที่ 1จึงผิดสัญญาข้อ 6 แม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว เมื่อปัญหาได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าซ่อมรางน้ำฝนและเพดานโดยกำหนดให้จำนวน2,500 บาท ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยอีกว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรางน้ำฝนและเพดาน และถือว่าปัญหานี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2534 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนที่หมู่ที่ 6 ตำบลสุโสะอำเภอปะเหลี่ยน จังหวัดตรัง รวมค่าวัสดุอุปกรณ์ครุภัณฑ์และค่าแรงจำนวนเงิน 850,000 บาท ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน 2535ถ้าไม่เสร็จภายในกำหนด จำเลยที่ 1 ยอมให้ปรับวันละ 1,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 สร้างแล้วเสร็จและมอบงานวันที่ 16 กันยายน 2535 จำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าปรับให้โจทก์ 139,000 บาท วันส่งมอบงาน จำเลยที่ 1 หาสีบ้านไม่ถูกต้อง โจทก์ได้ทักท้วงแล้ว ต้นเดือนสิงหาคม 2536 โจทก์พบว่าจั่วเฉลียงหน้าบ้านแตกร้าวรางน้ำฝนผิดแบบ แผ่นบันไดทรุดและหลวมเพดานบน-ล่างหย่อนยานหลุด ไม่ปิดช่องกั้นค้างคาวตามแนวหลังคาหน้าหลัง ก๊อกน้ำโถส้วมใช้ไม่ได้ โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมจำเลยที่ 1 ไม่จัดการให้ โจทก์จึงได้จ้างช่างอื่นซ่อมแซมแก้ไข รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน206,650 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้างบ้านพิพาทให้แก่โจทก์จริงตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างตามสัญญาทุกประการและส่งมอบบ้านพิพาทในสภาพเรียบร้อยให้โจทก์ โจทก์รับมอบโดยมิได้อิดเอื้อนหรือทักท้วงถึงความชำรุดบกพร่องหรือเรียกเอาเบี้ยปรับจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเสียค่าปรับ 139,000 บาท และจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง เพราะโจทก์เป็นผู้จัดหาช่างทำรางน้ำฝนด้วยตนเอง บันไดหลวมทรุดเพียงใช้ตะปูตอกก็ใช้การได้ เพดานก็ให้ช่างดึงเหล็กลวดซึ่งติดกับโครงหลังคาให้ตึงเช่นเดิม เสียค่าแรงงานไม่เกิน 200 บาท ช่องปิดกั้นค้างคาวมิได้ระบุไว้ในสัญญา ค่าก๊อกน้ำโถส้วมราคาไม่เกิน 500 บาท และจั่วเฉลี่ยงแก้ได้โดยสกัดรอยแตกฉาบปูนใหม่ ค่าใช้จ่ายไม่เกิน 300 บาท และโจทก์รับมอบบ้านโดยมิได้อิดเอื้อนหรือท้วงติงความชำรุดบกพร่องภายใน 1 ปี นับแต่ได้ทราบถึงความชำรุดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 2,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 2ชำระแทน คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน50,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยทั้งสองจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองฎีกาข้อเดียวว่า โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากจำเลยทั้งสองเพราะโจทก์รับมอบบ้านโดยไม่อิดเอื้อนและมิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเบี้ยปรับ ข้อนี้เห็นว่าตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้างจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์จะรับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ก็เจือสมกับบันทึกเอกสารหมาย จ.3 ที่ระบุว่าจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานให้โจทก์วันที่ 16 กันยายน2535 และในเอกสารดังกล่าวระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อน โจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้
ในส่วนที่เกี่ยวกับฎีกาของโจทก์นั้น โจทก์ฎีกาข้อ 2 ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าซ่อมแซม จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ปรากฎว่าตามสัญญาจ้างเหมาสร้างบ้านเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 มีข้อความว่า”เมื่องานจ้างตามสัญญานี้แล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างแล้ว ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ตามรายละเอียดและข้อผูกพันตามสัญญานี้ นับตั้งแต่วันที่ได้รับมอบงานจ้างเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้าง จะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของวัสดุที่ไม่ดี คุณภาพต่ำ หรือที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการช่างก็ตามผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบทำการแก้ไข ซ่อมแซม ตกแต่งหรือทำใหม่ให้เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดโดยไม่คิดค่าวัสดุสิ่งของค่าแรงงานหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีกถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่ทำการแก้ไขซ่อมแซมเหตุชำรุดดังกล่าวภายในเวลา 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือหรือวาจาจากผู้ว่าจ้าง โดยให้นับวันที่รับแจ้งเป็นวันที่เริ่มต้น หรือแก้ไขซ่อมแซมให้แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ และให้ถือว่าผู้รับจ้างตามสัญญานี้ ฯลฯ” และคดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่องโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท เป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาข้อดังกล่าว จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
และปรากฎว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความโจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ จึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าว เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งและศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบมาตรา 247 ข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้ และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซมจำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญาข้อ 6 และแม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ปรากฎว่าตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว ส่วนรายการอื่นโจทก์เบิกความแต่เพียงว่า ค่าจ้างและค่าวัสดุโจทก์สอบถามจากผู้มีความรู้ทางช่างเท่านั้น ไม่มีพยานสนับสนุนได้ พิเคราะห์พฤติการณ์ในคดีนี้แล้ว เห็นควรกำหนดให้โจทก์รวม 20,000 บาท
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยชำระค่าปรับให้โจทก์ 50,000 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์รวม52,500 บาท แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด50,000 บาท โดยเห็นว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรางน้ำฝนและเพดาน เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาข้อนี้ของโจทก์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 โจทก์ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อศาลฎีกาขอให้ศาลฎีกาสั่งรับฎีกาข้อนี้เพราะเป็นฎีกาข้อกฎหมาย เห็นว่าปัญหาดังกล่าวได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นไปแล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าซ่อมรางน้ำฝนและเพดานโดยกำหนดให้จำนวน 2,500 บาทศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรางน้ำฝนและเพดาน และถือว่าเป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 3 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 72,500 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share