คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7451/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี เมื่อมีคำร้องขอเลื่อนคดีจะต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ว่าคำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่
ศาลชั้นต้นเริ่มพิจารณาคดีนัดแรกโดยให้นัดพร้อมวันที่ 29มกราคม และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 2 เมษายนแต่ในวันดังกล่าวพยานติดราชการไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการพิจารณาไปวันที่ 5 มิถุนายน ซึ่งในวันดังกล่าว ส. ได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความและยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดแห่งคดี แต่เมื่อ ว. ทนายความที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้มาศาลและพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องแต่ประการใด ทั้งคดีได้มีการเลื่อนการพิจารณามาประมาณ 5 เดือนแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นและไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป แม้จำเลยทั้งสองจะได้ยื่นคำร้องขอถอน ว. ออกจากการเป็นทนายความในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหากพิจารณาเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประวิงคดีและรอไว้จนกระทั่ง ว. ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากเสร็จสิ้นจึงได้อนุญาตตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้า ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 5 มิถุนายน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83และคืนเงินที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง,66 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83)จำคุกคนละ 5 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือนคืนเงินที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 จำคุกคนละ 5 ปี ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามคงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที 5 มิถุนายน 2541 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า การที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีในวันที่ 5 มิถุนายน 2541 ตามคำร้องขอของนายแสงชัย เจียระนัยปรีเปรมทนายความที่จำเลยทั้งสองแต่งตั้ง และยังคงดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปโดยให้นายวรวิทย์ กิตติชยางกูร ทนายความที่ศาลแต่งตั้งทำหน้าที่เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองถามค้านพันตำรวจโทระยอง ยังอยู่และจ่าสิบตำรวจมานพ เทศเรือง พยานโจทก์ต่อไปก่อนทั้งที่จำเลยทั้งสองได้แถลงด้วยวาจาว่าไม่ประสงค์ให้นายวรวิทย์ทำหน้าที่เป็นทนายความให้แก่จำเลยทั้งสอง และยังได้ยื่นคำร้องขอถอนนายวรวิทย์จากการเป็นทนายความก่อนที่นายวรวิทย์จะถามค้านพันตำรวจโทระยองพยานโจทก์ปากแรกเสร็จสิ้นลง แต่ศาลชั้นต้นยังคงให้นายวรวิทย์ทำหน้าที่ต่อไปจนเสร็จสิ้นการถามค้านจ่าสิบตำรวจมานพพยานโจทก์ปากที่สอง จากนั้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยทั้งสองถอนนายวรวิทย์จากการเป็นทนายความของจำเลยทั้งสอง จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบเพราะไม่ให้โอกาสจำเลยทั้งสองต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่นั้น เห็นว่าการพิจารณาคำร้องขอเลื่อนคดีของนายแสงชัยทนายความที่จำเลยทั้งสองแต่งตั้ง ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 40 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ว่า คำร้องขอเลื่อนคดีดังกล่าวมีเหตุจำเป็นและสมควรอนุญาตหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นเริ่มพิจารณาคดีนัดแรกโดยให้นัดพร้อมวันที่ 29 มกราคม 2541 และให้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ 2 เมษายน 2541 แต่ในวันดังกล่าวพันตำรวจโทระยอง ซึ่งเป็นพยานคู่กับจ่าสิบตำรวจมานพติดราชการไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนการพิจารณาคดีไปนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 5 มิถุนายน 2541 ซึ่งในวันดังกล่าวนายแสงชัยได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีโดยอ้างเหตุว่า เพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความและยังไม่ได้ศึกษารายละเอียดแห่งคดี แต่เมื่อนายวรวิทย์ทนายความที่ศาลชั้นต้นแต่งตั้งให้เป็นทนายความของจำเลยทั้งสองได้มาศาลและพร้อมจะปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ปรากฏว่ามีข้อบกพร่องแต่ประการใด ทั้งคดีได้มีการเลื่อนการพิจารณาคดีมาประมาณ 5 เดือนแล้วจึงไม่มีเหตุจำเป็นและไม่มีเหตุสมควรอนุญาตให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปตามคำร้องของนายแสงชัย แม้จำเลยทั้งสองจะได้ยื่นคำร้องขอถอนนายวรวิทย์ออกจากการเป็นทนายความในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาก็ตาม ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตหากพิจารณาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะประวิงคดี และรอไว้จนกระทั่งนายวรวิทย์ถามค้านพยานโจทก์ทั้งสองปากเสร็จสิ้นจึงได้อนุญาตตามคำร้องของจำเลยทั้งสอง ทั้งนี้เพื่อควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาให้เป็นไปโดยไม่ล่าช้า ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นในวันที่ 5 มิถุนายน 2541 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาในวันดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share