คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 745/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคองอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้ พ. จะครอบครองอยู่ ก็ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะโอนสิทธิไปให้แก่ผู้ใดเมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้น ผู้ใดจะได้สิทธิในที่ดินต้องตกอยู่ในเงื่อนไขและวิธีการของการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่พิพาทมาก่อนเลย โดยมี พ. เป็นผู้ครอบครองอยู่ ทั้งเมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นแล้วโจทก์ก็มิได้เป็นผู้ครอบครองและขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แต่พ. เป็นผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับโอนขายที่ดินมาจาก พ.ตั้งแต่ก่อนที่พ. จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แต่เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและวิธีการของพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงไม่ได้สิทธิในที่พิพาทและถือว่าการโอนขายที่ดินระหว่าง พ. กับโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ไม่มีผลใช้บังคับโจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยซึ่งครอบครองที่พิพาทอยู่และเป็นสมาชิกของนิคมให้ออกจากที่พิพาทได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่พิพาท โดยซื้อมาจากนายพิชัย พรหมจันทร์เมื่อซื้อแล้วโจทก์ได้ให้นายพิชัยดูแลแทน ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยได้ไปขอออก น.ส.3ที่ดินแปลงดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินของรัฐ โดยรัฐได้ดำเนินการจัดสรรให้ผู้ครอบครองที่ดินอยู่เดิมนำมาเข้านิคมสร้างตนเองลำตะคองโดยให้เข้าเป็นสมาชิกของนิคม เดิมนายพิชัยเป็นเจ้าของที่พิพาทและได้สละสิทธิให้แก่จำเลยซึ่งได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนิคม จำเลยได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบของนิคมจนกระทั่งได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) โจทก์ไม่เคยครอบครองที่พิพาท สัญญาซื้อขายระหว่างนายพิชัยกับโจทก์ขัดต่อระเบียบของนิคม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่ว่าการซื้อขายที่พิพาทระหว่างนายพิชัยกับโจทก์ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่านิคมสร้างตนเองลำตะคองได้จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 351ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งข้อ 2 ของประกาศฉบับดังกล่าวบัญญัติว่าให้ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ดังนั้น การจัดที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคองจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 นอกจากนี้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว ข้อ 1 บัญญัติไว้ว่า ให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองในส่วนที่ดินที่เป็นของรัฐ ทั้งยังได้ความจากนายสุชาติ มีเสม เจ้าหน้าที่ของนิคมสร้างตนเองลำตะคองว่าที่พิพาทเดิมเป็นป่าสงวนมาก่อน อยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง ต่อมามีการถอนสภาพ ให้ราษฎรที่อาศัยอยู่นั้นเข้าทำกิน โดยทางราชการจัดสรรให้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของนิคมสร้างตนเองลำตะคองอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แม้นายพิชัยจะครอบครองอยู่ นายพิชัยก็ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่จะโอนสิทธิไปให้แก่ผู้ใด เมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นผู้ใดจะได้สิทธิในที่ดินก็ต้องตกอยู่ในเงื่อนไขและวิธีการจัดสรรที่ดินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 8, 11,12 และ 15 แห่งพระราชบัญญัติฉบับนี้บัญญัติไว้ สรุปความได้ว่าอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ มีอำนาจอนุญาตให้สมาชิกนิคมเข้ามาทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมเมื่อสมาชิกนิคมได้ทำประโยชน์ในที่ดิน และได้เป็นสมาชิกมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ทั้งได้ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐบาลได้ลงไปและชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมแล้ว ให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่ผู้นั้น ผู้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์แล้วจะขอให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดินได้และภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ นอกจากนี้ยังห้ามมิให้ผู้ใดเข้าไปหาประโยชน์ ยึดถือ ครอบครอง ที่ดินภายในเขตของนิคมเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้มาก่อน โดยมีนายพิชัยเป็นผู้ครอบครองอยู่ ทั้งเมื่อมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นแล้วโจทก์ก็มิได้เป็นผู้ครอบครองที่ดินและขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แต่นายพิชัยเป็นผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม แม้โจทก์จะอ้างว่าได้รับโอนขายที่ดินมาจากนายพิชัยตั้งแต่ก่อนที่นายพิชัยจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการตามเงื่อนไขและวิธีการของพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิในที่พิพาท และถือว่าการโอนขายที่ดินดังกล่าวระหว่างนายพิชัยกับโจทก์เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 ไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทได้
พิพากษายืน

Share