คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1351/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานกับบริษัท ป. ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการ ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม อันเป็นการทำงานที่นอกเหนือไปจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องแล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม ศาลย่อมไม่อาจแปลความตามคำฟ้องให้แตกต่างออกไปได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสถานบริการที่ประกอบกิจการจำหน่ายสุรา จึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานทั้งหมดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เมื่อบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้า การที่จำเลยผสมเหล้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทดื่มถือเป็นลักษณะงานต่อเนื่องจากการบริหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทซึ่งจำเลยเป็นลูกจ้างโดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยจะมาทำงานในตำแหน่งเป็นพนักงานผสมเหล้าอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างหรือประโยชน์อื่นเพิ่มขึ้นจากตำแหน่งเดิม การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 วรรคแรกแล้ว เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
ศาลเป็นผู้สอบถามจำเลยซึ่งจำเลยพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจดี แสดงว่าศาลได้สอบคำให้การจำเลยต่อหน้าศาลและจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ จึงให้การรับสารภาพ เช่นนี้ จึงมีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลยแล้ว หาใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทยไม่ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 5, 7, 9, 26, 52, 60
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 52 (ที่ถูกต้องปรับบทมาตรา 26 วรรคแรก ด้วย) ปรับ 2,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ครบองค์ประกอบความผิดและลงโทษจำเลยได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยทำงานนอกเหนือจากที่ได้รับอนุญาตแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานกับบริษัทป่าตอง ร็อคซิตี้ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสถานบริการชื่อ ร็อคซิตี้ เอ็กตรีม ในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม อันเป็นการทำงานที่นอกเหนือไปจากที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องแล้วว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการ แต่ได้ทำงานเป็นพนักงานผสมเหล้าให้ลูกค้าดื่ม ศาลย่อมไม่อาจแปลความตามคำฟ้องให้แตกต่างออกไปได้ว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสถานบริการร็อคซิตี้ เอ็กตรีม ที่ประกอบกิจการจำหน่ายสุรา จึงมีหน้าที่ควบคุมดูแลบริหารงานทั้งหมดให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของบริษัท เมื่อบริษัทมีวัตถุประสงค์ในการจำหน่ายสุราให้แก่ลูกค้า การที่จำเลยผสมเหล้าให้แก่ลูกค้าของบริษัทดื่มถือเป็นลักษณะงานต่อเนื่องจากการบริหารเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบริษัทซึ่งจำเลยเป็นลูกจ้าง โดยไม่มีข้อบ่งชี้ว่าจำเลยจะมาทำงานในตำแหน่งเป็นพนักงานผสมเหล้าอีกตำแหน่งหนึ่ง เพื่อให้ได้รับเงินค่าจ้างหรือประโยชน์อื่น เพิ่มขึ้นจากตำแหน่งเดิมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัย ดังนี้ การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 26 วรรคแรกแล้ว เมื่อความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นและจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นย่อมลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่า การดำเนินกระบวนพิจารณาในวันสอบคำให้การจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจำเลยยื่นคำแก้ฎีกาในประเด็นดังกล่าวด้วย ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยอีก ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่มีล่ามแปลภาษาฝรั่งเศสให้จำเลยเข้าใจ และศาลไม่ได้สอบคำให้การจำเลยต่อหน้าศาลนั้น เห็นว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณา ซึ่งอยู่ด้านหลังคำให้การจำเลยฉบับลงวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ศาลชั้นต้นบันทึกไว้ว่า ก่อนเริ่มพิจารณาศาลสอบถามจำเลย ซึ่งพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจดีว่า จำเลยมีทนายความหรือไม่ จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ศาลจึงอ่านอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังเข้าใจแล้ว จำเลยขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ ปรากฏตามคำให้การจำเลยซึ่งศาลบันทึกไว้ และให้จำเลยลงลายมือชื่อแล้ว โดยปรากฏลายมือชื่อของจำเลยในท้ายรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวและคำให้การของจำเลยทั้งสองแห่ง ดังนี้ จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าว ศาลเป็นผู้สอบถามจำเลยซึ่งจำเลยพูดและฟังภาษาไทยเข้าใจดี แสดงว่าศาลได้สอบคำให้การจำเลยต่อหน้าศาลและจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์ จึงให้การรับสารภาพ เช่นนี้ จึงมีการดำเนินกระบวนพิจารณาต่อหน้าศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 และคำให้การรับสารภาพของจำเลยเป็นไปตามความประสงค์อันแท้จริงของจำเลยแล้ว หาใช่เกิดจากความไม่เข้าใจในภาษาไทยดังที่จำเลยอ้างในคำแก้ฎีกาไม่ กรณีไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องใช้ล่ามแปลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 13 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในวันสอบคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์และคำแก้ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share