คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7447/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1และ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ออก น.ส.3 ก. ทับที่ดินของจำเลย ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้สืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องแย้งต่อไป แล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชนะคดีตามฟ้องแย้ง โจทก์อุทธรณ์ และโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นคดีนี้ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เช่นเดียวกันการทิ้งฟ้องของโจทก์ในคดีก่อน มีผลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้นหามีผลไปถึงฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ด้วยไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังคงมีอยู่ให้ศาลต้องพิจารณาต่อไป การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเข้ามาใหม่ ขณะที่คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามมาตรา 144 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และจำเลยที่ 2กับที่ 3 ร่วมกันเพิกถอน น.ส.3 ก. ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นเจ้าของในแต่ละแปลง โดยโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ออก น.ส.3 ก.ทั้งสองฉบับ เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอน น.ส.3 ก.ในแต่ละฉบับได้แล้ว สภาพคำขอบังคับของโจทก์อันเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เปิดช่องที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ในคดีนี้ได้ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอีกต่อไป ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 2926 จำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นทายาทของนายเกลื่อม ผลสิริ และนายสำราญ ไชยพงศ์ ตามลำดับจำเลยที่ 3 เป็นนายอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเดือนธันวาคม 2530 โจทก์ทราบว่า เมื่อปี 2519 นายเกลื่อมและนายสำราญได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่ไปรังวัดที่ดินของบุคคลทั้งสองเพื่อขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 2604 แต่เนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ลงระวางที่ดินผิดพลาด จึงทำให้ออกทับระวางที่ดินของโจทก์ซึ่งเดิมมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 237 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้มีคำสั่งให้ออก น.ส.3 ก. ดังกล่าว ขณะนี้นายเกลื่อมและนายสำราญ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 3 เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 2604 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 2486 หากจำเลยทั้งสามไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 62/2534หมายเลขแดงที่ 679/2534 ของศาลชั้นต้นในเรื่องเดียวกันมาแล้ว และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ฟ้องแย้งโจทก์ในคดีดังกล่าวขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ของโจทก์อ้างว่าออกทับที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชนะคดี ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อนและซ้ำกับคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างก็เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่ดินของนายเกลื่อมและนายสำราญตามลำดับ และได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 679/2534 ของศาลชั้นต้นหรือไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายในคดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 679/2534 ของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นคู่ความรายเดียวกัน และคำฟ้องเป็นเรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้อน ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดีต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1และที่ 2 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 679/2534 ของศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่คู่ความรับและไม่โต้เถียงกันว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามในเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 62/2534 หมายเลขแดงที่ 679/2534 ในคดีดังกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ออก น.ส.3 ก.ทับที่ดินของจำเลย ขอให้เพิกถอน น.ส.3 ก. ของโจทก์ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีก่อนโจทก์ไม่เสียค่าขึ้นศาลภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147(2) และให้สืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องแย้งต่อไปแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชนะคดีตามฟ้องแย้งโจทก์อุทธรณ์ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีนี้เกี่ยวกับที่ดินแปลงเดียวกันและมีประเด็นขอให้เพิกถอนน.ส.3 ก. เช่นเดียวกัน ศาลฎีกาเห็นว่า การทิ้งฟ้องของโจทก์ในคดีก่อนแม้จะมีผลลบล้างผลแห่งการยื่นคำฟ้องนั้น รวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่น ๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 แต่ก็มีผลเฉพาะในส่วนเกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้น หามีผลไปถึงฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ซึ่งโจทก์มีฐานะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งด้วยไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงยังคงมีอยู่ให้ศาลต้องพิจารณาต่อไป ไม่ตกไปดังที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฎีกาและแม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 176 จะบัญญัติให้คำฟ้องใด ๆ ที่ได้ทิ้งแล้วอาจยื่นใหม่ได้ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ แต่เมื่อโจทก์ยังมีฐานะเป็นคู่ความฝ่ายจำเลยตามฟ้องแย้ง การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันเข้ามาใหม่ขณะที่คดีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1และที่ 2 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาแล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 เช่นนี้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3หยิบยกปัญหาเรื่องดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำขึ้นวินิจฉัยเป็นการไม่ชอบ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากั้นมาแล้วในศาลชั้นต้นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 เห็นสมควรก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาคดีไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 246 ประกอบมาตรา 142(5)ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับที่ 3 และจำเลยที่ 2กับที่ 3 ร่วมกันเพิกถอน น.ส.3 ก. ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นเจ้าของในแต่ละแปลง โดยโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ออก น.ส.3 ก. ทั้งสองฉบับ เมื่อฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำซึ่งไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอน น.ส.3 ก.ในแต่ละฉบับดังกล่าวได้แล้ว สภาพคำขอบังคับของโจทก์อันเกี่ยวกับจำเลยที่ 3 จึงไม่เปิดช่องที่จะบังคับตามคำขอของโจทก์ในคดีนี้ได้ คดีสำหรับจำเลยที่ 3 จึงไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาอีกต่อไป ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share