คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7440/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และให้เพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามมาตรา 116 สำหรับการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ดังนี้ ผู้คัดค้านที่ 1มีภาระการพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนรับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินจากลูกหนี้โดยรู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ผู้คัดค้านที่ 1 จึงรับโอนโดยไม่สุจริต เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114
ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 2 โดยมิได้รับโอนหรือกระทำการใด ๆเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้กับลูกหนี้แต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริตแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยชอบ จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 ดังกล่าวจะต้องได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย
คดีนี้แม้ข้อเท็จจริง จะได้ความว่าก่อนที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 3รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากลูกหนี้ แต่ก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะรับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ได้มีการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วทุกครั้ง การรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 3 กับระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 3และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 จึงหาใช่เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมเพียงแต่เป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญาจำนองเดิมที่ลูกหนี้ทำกับผู้คัดค้านที่ 3ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3รับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 2 หลังจากมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 สุจริต และเสียค่าตอบแทนหรือไม่
การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น มิใช่เป็นการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลูกหนี้ (จำเลย) ล้มละลายเมื่อวันที่ 27กรกฎาคม 2532 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม2532 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 ขณะนี้ลูกหนี้ยังไม่พ้นภาวะการล้มละลาย เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2532 อันเป็นวันภายหลังที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ลูกหนี้ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6853 และ 6854 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งลูกหนี้ซื้อมาจากบริษัทอาร์ตเดคคอร์ จำกัด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ในราคา1,000,000 บาท และในวันเดียวกันนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับผู้คัดค้านที่ 3 ต่อมาวันที่ 7 มีนาคม 2533 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้จดทะเบียนไถ่ถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วโอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ในราคา 1,100,000 บาท และในวันเดียวกันนั้นเอง ผู้คัดค้านที่ 2 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้กับผู้คัดค้านที่ 3 การโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของลูกหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนและต้องห้ามตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เนื่องจากเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 แล้วผู้คัดค้านที่ 2 นำไปจดทะเบียนจำนองไว้กับผู้คัดค้านที่ 3 ได้กระทำขึ้นภายหลังจากโจทก์ฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6853 และ 6854 พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2532 เพิกถอนการโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2533 และเพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2533 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันชดใช้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเท่าราคาปัจจุบันพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของราคานับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากลูกหนี้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า การโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับลูกหนี้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนกรรมสิทธิ์ในบ้านและที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนผู้คัดค้านที่ 2 ไม่เคยรู้จักหรือมีนิติสัมพันธ์กับลูกหนี้มาก่อนและการร้องขอให้เพิกถอนการโอนของผู้ร้องขาดอายุความเนื่องจากยื่นคำร้องขอเพิกถอนภายหลัง 1 ปี นับแต่วันที่รู้เหตุแห่งการเพิกถอน ขอให้ยกคำร้อง

ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ได้พิจารณาตามขั้นตอนและวิธีปฏิบัติของธนาคารและรับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน โดยไม่ทราบว่าลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้ล้มละลายแต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 116 ส่วนการกระทำก่อนหรือหลังขอให้ล้มละลายเป็นเรื่องให้อำนาจผู้ร้องที่จะต้องขอเพิกถอนต่อศาลได้หรือไม่เท่านั้น ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6853 และ 6854 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 11 สิงหาคม 2532 และเพิกถอนการโอนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 7มีนาคม 2533 กับเพิกถอนการจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 7 มีนาคม 2533 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ก็ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันใช้ราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเท่าราคาปัจจุบันกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของราคาทรัพย์นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง

ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ว่าหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสามร่วมกันใช้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น

ผู้คัดค้านทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องลูกหนี้ต่อศาลชั้นต้นขอให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2532ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2532 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2533 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม2532 ลูกหนี้ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6853 และ 6854 พร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นการโอนขายภายหลังโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว

มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสามว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 และเพิกถอนการจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ตามมาตรา 116 หรือไม่ สำหรับการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 มีภาระการพิสูจน์ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนซึ่งในปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนรับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าวจากลูกหนี้โดยรู้อยู่ว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวผู้คัดค้านที่ 1 จึงรับโอนโดยไม่สุจริต ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 โอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 2จำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้กับผู้คัดค้านที่ 3 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 2 มิได้รับโอนหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้กับลูกหนี้แต่อย่างใด ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลภายนอกตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 เมื่อรับฟังว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริตแล้ว ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมไม่ได้สิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยชอบ จึงไม่มีสิทธิที่จะโอนทรัพย์สินดังกล่าวให้แก่ผู้อื่น ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 ดังกล่าว จะต้องได้ความว่าผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย คดีนี้แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 3 รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากลูกหนี้ ต่อมาหลังจากวันที่มีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้ว ผู้คัดค้านที่ 3 ได้รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ตามลำดับ แต่ก่อนที่ผู้คัดค้านที่ 3 จะรับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 2 ได้มีการชำระหนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 และไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วทุกครั้ง การรับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 3 กับระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 3 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 จึงหาใช่เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากสัญญาจำนองเดิมหรือเพียงเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญาจำนองเดิมที่ลูกหนี้ทำกับผู้คัดค้านที่ 3 การที่ผู้คัดค้านที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3รับจำนองจากผู้คัดค้านที่ 2 หลังจากมีการขอให้ลูกหนี้ล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 3จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116

ที่ผู้คัดค้านที่ 2 ฎีกาว่า คดีผู้ร้องขาดอายุความฟ้องร้องนั้น เห็นว่า การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์สินหรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น มิใช่เป็นการเพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 113 ไม่มีบทบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30

พิพากษายืน

Share