คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7438/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ที่ดิน 2 แปลง และปลูกบ้านกับต้นยูคาลิปตัสตามฟ้องภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชาจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 ใช้บังคับแล้ว เมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังนี้จึงเป็นการที่โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง
ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2521 จะมีผลบังคับกับที่ดินที่ถูกเวนคืนต่อเมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับค่าชดเชยเสียก่อน
ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นและปลูกเพื่อตัดขายเป็นคราว ๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่เมื่อมีหน่อขึ้นมาแล้วก็บำรุงรักษาหน่อไว้ก็สามารถตัดขายได้อีกดังนี้ การที่โจทก์มีเจตนาในการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อประโยชน์เป็นเวลานานตลอดไปต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง แต่โจทก์ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินโดยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146
ที่ดินแปลงพิพาทตามฟ้องอยู่ในเขตเวนคืน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา ฯลฯ พ.ศ. 2521เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือและให้ผู้อำนวยการของจำเลยร่วมเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว และเมื่อต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนควบของที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2497 มาตรา 10 ดังนี้ การที่จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอบที่ดินที่เวนคืนให้จำเลยดำเนินการ แล้วจำเลยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสและขุดตอต้นยูคาลิปตัสในที่ดินดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าตัดฟันต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกไว้ในที่ดินของโจทก์ เป็นเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ ซึ่งโจทก์ปลูกไว้ไร่ละ 700 ต้น เป็นต้นยูคาลิปตัสที่ถูกตัดฟันไปจำนวน 5,600 ต้น โจทก์ขอคิดค่าเสียหายต้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน560,000 บาท นอกจากนี้จำเลยยังใช้รถแทรกเตอร์ขุดตอต้นยูคาลิปตัสของโจทก์จำนวน 5,600 ตอ โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง 5,000 บาท ตอละ 100 บาทรวมเป็นเงิน 500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,060,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2497 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 ออกใช้บังคับโดยให้หวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาไว้เพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหักร้าง จัดทำ หรือปลูกสร้างด้วยประการใด ๆในที่ดินนั้น ที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าครอบครองทำประโยชน์ตามฟ้องอยู่ในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ต่อมามีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอศรีราชา และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2516และพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชาและตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือ โดยให้ผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ตามฟ้องอยู่ในเขตเวนคืน จึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์อ้างว่าปลูกบนที่ดินดังกล่าวเป็นไม้ยืนต้นเป็นส่วนควบของที่ดินย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยโจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นยูคาลิปตัส จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทยมอบที่ดินดังกล่าวให้จำเลยทำการปรับปรุงพื้นที่และทำการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและจำเลยเข้ากระทำการตามคำสั่งของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกการท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้าเป็นจำเลยร่วมโดยอ้างว่าจำเลยอาจฟ้องการท่าเรือแห่งประเทศไทยได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หากศาลพิจารณาให้จำเลยแพ้คดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต

จำเลยร่วมให้การว่า โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินตามฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีพ.ศ. 2497 ซึ่งหวงห้ามไว้เพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นที่ดินอยู่ในเขตเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุงอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วม ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์อ้างว่าปลูกนั้นเป็นไม้ยืนต้น จึงตกเป็นส่วนควบของที่ดินและเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วม จำเลยร่วมให้จำเลยเข้าดำเนินการปรับปรุงพื้นที่และทำการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกตามสัญญาที่จำเลยได้ทำกับจำเลยร่วม จำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองโดยปลูกบ้านและปลูกต้นยูคาลิปตัสอยู่ในเขตหวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลาอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามฟ้องและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินแปลงที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน ตามฟ้องหรือไม่

สำหรับประเด็นการครอบครองที่ดินของโจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์ได้ที่ดิน 2 แปลงตามฟ้องเมื่อประมาณปี 2502 อันเป็นเวลาภายหลังจากพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2497ใช้บังคับแล้ว ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ที่ดินตามฟ้องและครอบครองมาตั้งแต่ปี 2495 นอกจากนั้น โจทก์เพิ่งปลูกบ้าน 2 หลัง เมื่อประมาณ 20 ปี กับซื้อพันธุ์ต้นยูคาลิปตัสเพื่อปลูกเมื่อปี 2514 แสดงว่าโจทก์ได้ที่ดินตามฟ้องปลูกบ้านและปลูกต้นยูคาลิปตัสหลังจากพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับแล้ว ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ดินหวงห้ามเพื่อประโยชน์ในราชการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ได้สิทธิครอบครอง

ส่วนที่โจทก์ฎีกาอีกว่า พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 ไม่มีผลใช้บังคับที่ดินตามฟ้อง เพราะไม่มีการจ่ายค่าชดเชยที่ดินให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดสนับสนุนข้ออ้างของโจทก์ว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับต่อเมื่อเจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนได้รับค่าชดเชยเสียก่อน หากโจทก์เห็นว่ามีสิทธิจะได้รับค่าชดเชยที่ดินที่ถูกเวนคืนก็ชอบที่จะไปดำเนินคดีใหม่ต่อไป

ส่วนประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินแปลงที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ โจทก์เบิกความรับว่า ต้นยูคาลิปตัสเป็นไม้ยืนต้นและปลูกเพื่อตัดขายเป็นคราว ๆ โดยไม่ต้องปลูกใหม่เมื่อมีหน่อขึ้นมาแล้วก็บำรุงรักษาหน่อไว้ก็สามารถตัดขายได้อีก จึงเห็นได้ว่าโจทก์มีเจตนาในการปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อประโยชน์เป็นเวลานานตลอดไปดังนี้ ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงเป็นส่วนควบของที่ดินตามฟ้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ปลูกต้นยูคาลิปตัสในที่ดินแปลงที่ 2 และที่ 3 โดยไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้นยูคาลิปตัสที่โจทก์ปลูกจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จะถือว่าไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 เมื่อได้ความจากทางนำสืบของจำเลยและจำเลยร่วมว่าที่ดินแปลงที่ 2 และแปลงที่ 3 ตามฟ้องอยู่ในเขตเวนคืน ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา และตำบลบางละมุง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2521 เพื่อประโยชน์ของรัฐในการสร้างท่าเรือน้ำลึกและกิจการอันเกี่ยวเนื่องกับการท่าเรือและให้ผู้อำนวยการของจำเลยร่วมเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2521 ที่ดินแปลงที่ 2 และที่ 3 ตลอดจนต้นยูคาลิปตัสที่ปลูกในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนควบของที่ดินจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน 2521 ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 มาตรา 10 การที่จำเลยร่วมว่าจ้างจำเลยดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและมอบที่ดินที่เวนคืนให้จำเลยดำเนินการแล้วจำเลยตัดฟันต้นยูคาลิปตัสและขุดตอต้นยูคาลิปตัสในที่ดินดังกล่าวซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยร่วมจึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

พิพากษายืน

Share