คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7437/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 136บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้ และมาตรา 106(1)บัญญัติว่า คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวเมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ดังนั้น ผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มี อำนาจปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกันในกรณีที่ผู้ต้องหายังอยู่ในอำนาจควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวนมิใช่กรมตำรวจ เมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันได้ ทั้งอำนาจในการปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกัน กฎหมายมอบให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน มิได้มอบอำนาจให้แก่ผู้ใดผู้หนึ่งเป็นการส่วนตัว เงินค่าปรับตามสัญญาประกันจึงต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการมิได้ตกเป็นเงินส่วนตัวของร้อยตำรวจเอกป. การที่ร้อยตำรวจเอกป. ไม่อาจนำเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวได้มิได้แสดงว่าร้อยตำรวจเอกป.ในฐานะพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจฟ้องผู้ผิดสัญญาประกันโจทก์ในฐานะพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าปรับจำนวน 10,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 10,000 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาข้อหาเป็นเจ้าของรถใช้รถหรือมีรถไว้เพื่อใช้ไม่จัดให้มีการประกันความเสียหาย สำหรับผู้ประสบภัยจากรถได้ทำสัญญาประกันตนเองไปจากการควบคุมของโจทก์ แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่มาพบโจทก์ตามกำหนดนัด ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย อันเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มีว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 136 บัญญัติให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาโดยมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้และมาตรา 106(1) บัญญัติว่าคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวเมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ดังนั้นผู้ที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกันในกรณีที่ผู้ต้องหายังอยู่ในอำนาจควบคุมของพนักงานสอบสวนคือพนักงานสอบสวน มิใช่กรมตำรวจเมื่อจำเลยผิดสัญญาประกันย่อมเป็นการผิดสัญญาต่อพนักงานสอบสวนโดยตรงพนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันได้ ที่จำเลยอ้างว่าเงินค่าปรับตามสัญญาประกันมิได้ตกเป็นของร้อยตำรวจเอกปัญญาพงษ์ ชูศิลป์ทองพนักงานสอบสวน แต่ต้องเข้างบประมาณของกรมตำรวจ ผู้มีอำนาจฟ้องคืออธิบดีกรมตำรวจ ไม่ใช่ร้อยตำรวจเอกปัญญาพงษ์นั้นเห็นว่า อำนาจในการปล่อยชั่วคราวและทำสัญญาประกัน กฎหมายมอบให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวน มิได้มอบอำนาจให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการส่วนตัว เงินค่าปรับตามสัญญาประกันจึงต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ มิได้ตกเป็นเงินส่วนตัวของร้อยตำรวจเอกปัญญาพงษ์ การที่ร้อยตำรวจเอกปัญญาพงษ์ไม่อาจนำเงินดังกล่าวไปใช้ส่วนตัวได้มิได้แสดงว่าร้อยตำรวจเอกปัญญาพงษ์ในฐานะพนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจฟ้องผู้ผิดสัญญาประกันที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share