คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2505/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ที่จะสั่งการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 นั้น มิได้เฉพาะกรณีที่นายจ้างปิดงานหรือลูกจ้าง นัดหยุดงานอยู่เท่านั้น เมื่อนายจ้างได้เลิกจ้างลูกจ้างไปก่อนมีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน รัฐมนตรีย่อมไม่มีอำนาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างที่นายจ้างได้เลิกจ้างแล้วกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายแก่ลูกจ้างได้ กรณีไม่อาจตีความการใช้อำนาจของรัฐมนตรีตามมาตรา 35 ให้รวมไปถึงลูกจ้างที่นายจ้างได้เลิกจ้างไปก่อนแล้วได้ แม้การเลิกจ้างนั้นจะไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ก็ตาม เพราะหากตีความเช่นนั้น บทบัญญัติมาตรา 124 ก็จะไม่มีผลบังคับ เมื่อนายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างแล้ว แม้การเลิกจ้างดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าการแสดงเจตนาของนายจ้างที่มีคำสั่งเลิกจ้างมีผลให้ลูกจ้างหมดสภาพการเป็นลูกจ้างทันที หากการเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมหรือเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายประการใดฝ่ายลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่นายจ้างได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะกฎหมายบัญญัติขั้นตอนให้ดำเนินการต่อไปเป็นทางแก้ไว้แล้ว กล่าวคือ ฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นผู้เสียหายอาจยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างว่าได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนตามมาตรา 124 แห่ง พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็จะต้องดำเนินการวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันต่อไป หากฝ่ายใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวก็อาจนำคดีมาสู่ศาลแรงงานได้ แต่มิใช่ว่าการกระทำใดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานก็ต้องดำเนินการชี้ขาดเสียเองโดยไม่ต้องให้คู่กรณีไปว่ากล่าวกันเองต่างหาก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จำเลยที่ 2 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2540สหภาพแรงงานไทยฮีทเอ็กซ์เซนจ์แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อโจทก์ แต่การแจ้งข้อเรียกร้องและการแจ้งพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไม่ได้กระทำตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อวันที่ 6 ถึง 8 มีนาคม 2540อันเป็นวันเวลาทำงานตามปกติ ลูกจ้างของโจทก์ประมาณ 280 คนได้ร่วมกันนัดหยุดงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ โจทก์ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วและมีคำสั่งห้ามมิให้ลูกจ้างของโจทก์กระทำความผิดซ้ำคำเตือนอีก แต่ลูกจ้างเพิกเฉย เมื่อวันที่ 8 และ 10 มีนาคม 2540โจทก์มีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวจำนวน 268 คน เมื่อวันที่24 เมษายน 2540 จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1ได้มีคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 77/2540เรื่อง ให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน ให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานคำสั่งของจำเลยทั้งสองออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้โจทก์รับพนักงานที่โจทก์เลิกจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 8 และ 10 มีนาคม 2540 กลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2540เป็นต้นไป ให้ลูกจ้างดังกล่าวกลับเข้าทำงานตามปกติ และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน คำสั่งดังกล่าวเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต้องรับลูกจ้างจำนวน 268 คน ที่ถูกเลิกจ้างแล้ว ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างวันละ 83,969 บาท นับแต่วันที่25 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเพิกถอนคำสั่งที่ 77/2540 ของจำเลยทั้งสอง การรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงานโดยโจทก์ไม่มีงานให้ทำและไม่มีสถานที่เพียงพอที่จะรับบุคคลดังกล่าวเข้าทำงานได้และมีผลทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหายอาจเกิดการทะเลาะวิวาทก่อความไม่สงบขึ้นระหว่างลูกจ้างของโจทก์กับบุคคลภายนอกดังกล่าวและหากคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามคำสั่งที่ 77/2540 จะมีผลทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการต่าง ๆ ตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ให้แก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้เลิกจ้างไปแล้ว คำสั่งของจำเลยทั้งสองจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35เพราะกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะใช้ดุลพินิจสั่งการตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 จะต้องเป็นกรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงาน ทั้งคู่กรณียังมีฐานะเป็นนายจ้างลูกจ้างและนายจ้างปิดงานหรือลูกจ้างนัดหยุดงาน แต่กรณีนี้โจทก์ได้มีคำสั่งเลิกจ้างลูกจ้างทั้ง 268 คนหมดสภาพเป็นลูกจ้างไปแล้วจึงไม่มีข้อพิพาทแรงงาน ไม่มีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมจึงไม่มีอำนาจสั่งตามมาตราดังกล่าวได้ ขอให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 77/2540 ของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 ของรัฐมนตรีเป็นอำนาจโดยชอบธรรมที่จำเลยทั้งสองจะต้องกระทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 35 รัฐมนตรีจะมีอำนาจสั่งได้ต้องเป็นกรณีการปิดงานหรือการนัดหยุดงาน และรัฐมนตรีเห็นว่าการปิดงานหรือการนัดหยุดงานนั้น อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศ หรืออาจก่อให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชนหรืออาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ หรืออาจขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำว่า “การปิดงาน” ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 5 หมายถึงการที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราว แต่ไม่ได้หมายความรวมถึงลูกจ้างที่นายจ้างมีคำสั่งเลิกจ้างแล้ว ดังนั้น คำสั่งตามเอกสารหมาย จ.1 ที่สั่งให้โจทก์รับลูกจ้างที่โจทก์เลิกจ้างแล้วกลับเข้าทำงานพร้อมทั้งจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่เคยจ่ายแก่ลูกจ้างนั้น จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 35 แต่คำสั่งดังกล่าวในส่วนที่ให้โจทก์รับลูกจ้างที่โจทก์ปฏิเสธไม่ยอมให้เข้าทำงานหรือลูกจ้างที่นัดหยุดงานและโจทก์ไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างกลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้างนั้น จำเลยที่ 2 ได้ออกคำสั่งโดยปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจออกคำสั่งได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งในส่วนนี้ พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่ 77/2540 ของจำเลยทั้งสองในส่วนที่ให้โจทก์รับลูกจ้างที่โจทก์เลิกจ้างตามคำสั่งของโจทก์ฉบับลงวันที่ 8 และ 10 มีนาคม 2540 จำนวน 268 คน กลับเข้าทำงานพร้อมจ่ายค่าจ้าง คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์นั้นเห็นว่าอุทธรณ์ดังกล่าวโจทก์ไม่ได้บรรยายมาในคำฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในข้อ 2.1 ว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า อำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมที่จะสั่งการตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518มาตรา 35 มีได้เฉพาะกรณีปิดงานหรือการนัดหยุดงานเท่านั้นคดีนี้เป็นเรื่องนายจ้างเลิกจ้างไปก่อนหน้านั้นแล้วรัฐมนตรีจึงไม่มีอำนาจสั่งการในส่วนนี้ เพราะข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการนัดหยุดงานของลูกจ้างโดยชอบด้วยกฎหมายก่อน แล้วนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซ้อนเข้าไป การตีความอำนาจของรัฐมนตรีตามมาตรา 35 ดังกล่าวควรตีความในส่วนที่ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนที่ไม่ถูกต้องศาลไม่ควรคุ้มครองและไม่ถือว่าการเลิกจ้างเกิดขึ้น เพราะการเลิกจ้างเกิดขึ้นขณะที่มีข้อเรียกร้องจนเกิดข้อพิพาทแรงงานแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ ทั้งมาตรา 31 และมาตรา 121(1) ได้บัญญัติขึ้นห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง การเลิกจ้างของนายจ้างเป็นการขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะตามมาตรา 150 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่ถือว่ามีการเลิกจ้าง จำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจสั่งให้โจทก์รับลูกจ้างทั้งหมดที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงานตามมาตรา 35ดังกล่าวข้างต้น นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้มีคำสั่งฉบับลงวันที่ 8 และ 10 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมายจ.2 และ จ.3 เลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 268 คน การเลิกจ้างดังกล่าวจะขัดต่อกฎหมายหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องถือว่าการแสดงเจตนาของโจทก์ผู้เป็นนายจ้างที่มีคำสั่งเลิกจ้างมีผลให้ลูกจ้างหมดสภาพการเป็นลูกจ้างทันที ส่วนการเลิกจ้างนั้นหากไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฝ่ายลูกจ้างก็มีสิทธิที่จะดำเนินคดีแก่โจทก์ได้ทั้งทางแพ่งและทางอาญาเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก เพราะกฎหมายได้บัญญัติขั้นตอนให้ดำเนินการต่อไปเป็นทางแก้ไว้แล้ว กล่าวคือ ฝ่ายลูกจ้างซึ่งเป็นผู้เสียหายอาจยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ว่าได้กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่มีการฝ่าฝืนตามมาตรา 124 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็จะต้องดำเนินการวินิจฉัยชี้ขาดภายในเก้าสิบวันต่อไป หากฝ่ายใดไม่พอใจคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าวก็อาจนำคดีมาสู่ศาลแรงงานกลางได้ แต่มิใช่ว่าการกระทำใดเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมแล้ว ศาลแรงงานกลางต้องดำเนินการชี้ขาดเสียเอง โดยไม่ต้องให้คู่กรณีไปว่ากล่าวกันเองต่างหาก ดังที่จำเลยทั้งสองกล่าวในอุทธรณ์ ข้อ 2.3 ส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ในข้อ 2.5 ว่า การตีความการใช้อำนาจของรัฐมนตรีตามมาตรา 35 ควรรวมถึงลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยนั้น เห็นว่า หากเป็นเช่นนั้นบทบัญญัติมาตรา 124 ก็จะไม่มีผลบังคับ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองต่อไป เพราะไม่เป็นเหตุให้ผลแห่งการวินิจฉัยเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share