คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7430/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในชั้นพิจารณา ผู้เสียหายเบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นทำนองช่วยเหลือจำเลย ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเท่าคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ซึ่งให้การในระยะกระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุ เพราะผู้เสียหายยังไม่มีโอกาสไตร่ตรองบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแม้เป็นพยานบอกเล่าแต่มีเหตุผลให้น่าเชื่อถือ
คำให้การของพยานโจทก์ที่ว่าได้ร่วมกระทำผิดด้วยกันกับจำเลยมิได้เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้น ทั้งยังมีเหตุผลและสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย จึงมีน้ำหนักรับฟังได้
ฎีกาจำเลยที่ว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามวิธีพิจารณาคดีสำหรับเยาวชน ไม่สั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจ การสอบสวน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นการกระทำความผิดขณะจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นเยาวชน เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดสมุทรปราการ พ.ศ. 2532มาตรา 3 ให้เปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในศาลจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจึงได้มีการโอนคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรีมาพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวแล้วตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 บัญญัติว่าในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องอายุ หรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตาม ข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป
เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวยจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ซึ่งความผิดอาญาได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจ ดำเนินการสอบสวนมาแล้วโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18 แม้ภายหลังจะมีการโอนคดีมาพิจารณาพิพากษายังศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวก็ตาม ก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้
การสั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจไม่ใช่การดำเนินการชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน
ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาหรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย โดยไม่ใช้ดุลพินิจให้นำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาใช้แทนการลงโทษทางอาญานั้น จึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104วรรคท้าย จะนำมาใช้ในกรณีศาลพิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่าควรจะกักตัวหรือควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนตาม (1) หรือ (2) ต่อไป หลังจากที่เด็กหรือเยาวชนมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ศาลระบุในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนด การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีอายุ 28 ปี จำคุก 7 ปี 6 เดือนการส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงให้ส่งตัวจำเลยไปเรือนจำจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเป็นไม่ปรับบทตามมาตรา 104 วรรคท้าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2531 เวลากลางวันจำเลยกับนายพรชัย บุญรอด ร่วมกันชิงสร้อยคอทองคำ 1 เส้นราคา 6,000 บาท ของนายโกศล คำหวาน ผู้เสียหายไป โดยใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายว่าทันใดนั้น จะใช้อาวุธปืนยิงประทุษร้ายผู้เสียหายให้ถึงแก่ความตาย เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์พาทรัพย์นั้นไป ยึดถือเอาทรัพย์ไว้ หรือให้พ้นการจับกุมเหตุเกิดที่ตำบลบางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ต่อมาวันที่ 15กันยายน 2540 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยได้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 83 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ 6,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง, 340 ตรี, 83 จำคุก15 ปี ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่ง คงจำคุก7 ปี 6 เดือน เนื่องจากขณะพิพากษาจำเลยมีอายุ 28 ปีแล้ว การส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจนั้น เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสมจึงให้ส่งตัวจำเลยไปเรือนจำ โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104 วรรคท้าย ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำ6,000 บาท แก่ผู้เสียหาย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยโดยลดมาตราส่วนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 7 ปี6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องนายพรชัย บุญรอด จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 420/2531 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ร่วมกับพวกอีก 1 คนชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 6,000 บาท ของนายโกศล คำหวานผู้เสียหายโดยมีและใช้อาวุธปืน

ที่จำเลยฎีกาว่า คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.3 เป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเท่าคำเบิกความในชั้นพิจารณานั้น เห็นว่า เมื่อคำเบิกความในชั้นพิจารณาเป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงเป็นทำนองช่วยเหลือจำเลยก็ย่อมไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเท่าคำให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งให้การในระยะกระชั้นชิดกับเวลาเกิดเหตุพยานยังไม่น่าจะทันมีโอกาสไตร่ตรองบิดเบือนข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น แม้จะเป็นพยานบอกเล่าแต่มีเหตุผลให้น่าเชื่อถือจึงมีน้ำหนักให้รับฟังยิ่งกว่าคำเบิกความที่บ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือจำเลยอย่างขัดต่อเหตุผล

ที่จำเลยฎีกาว่าคำให้การในชั้นสอบสวนของนายพรชัยก็เป็นพยานซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกันจะรับฟังมาลงโทษจำเลยไม่ได้นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังคำให้การซัดทอดของผู้กระทำผิดด้วยกัน เสียทีเดียวไม่ ทั้งตามคำให้การของนายพรชัยก็ว่าร่วมกระทำผิดด้วยกันกับจำเลยมิได้เป็นการซัดทอดเพื่อให้ตนเองพ้นผิดหรือได้รับประโยชน์จากการซัดทอดนั้น แต่อย่างใดทั้งยังมีเหตุผลและสอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงมีน้ำหนักรับฟังได้

ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการตามวิธีพิจารณาคดีสำหรับเยาวชน คือ ไม่สั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจ การสอบสวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเห็นว่า ข้อกฎหมายดังกล่าวแม้จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 ซึ่งคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นการกระทำความผิดขณะจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ซึ่งเป็นเยาวชนเมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนในศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลจังหวัดสมุทรปราการพ.ศ. 2532 มาตรา 3 ให้เปิดดำเนินการแผนกคดีเด็กและเยาวชนขึ้นในศาลจังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจึงได้มีการโอนคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรีมาพิจารณาพิพากษาที่ศาลจังหวัดนนทบุรีแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวแล้ว ในข้อนี้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 15 บัญญัติว่า ในกรณีที่ปรากฏในภายหลังว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องอายุ หรือการบรรลุนิติภาวะด้วยการสมรสของบุคคลที่เกี่ยวข้อง หรือศาลอื่นใดได้รับพิจารณาพิพากษาคดีโดยไม่ต้องด้วยมาตรา 13 ซึ่งถ้าปรากฏเสียแต่ต้นจะเป็นเหตุให้ศาลนั้น ๆ ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาก็ตามข้อบกพร่องดังกล่าวไม่ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาและศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวเสียไป เมื่อคดีนี้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ซึ่งความผิดอาญาได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจดำเนินการสอบสวนมาแล้วโดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 18 แม้ภายหลังจะมีการโอนคดีมาพิจารณาพิพากษายังศาลจังหวัดนนทบุรี แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวก็ตามก็ไม่ทำให้การสอบสวนที่กระทำโดยชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลับเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ สำหรับการสั่งสอบความประพฤติตามขั้นตอนของสถานพินิจนั้นก็ไม่ใช่การดำเนินการชั้นสอบสวนของพนักงานสอบสวน ดังนั้นพนักงานสอบสวนคดีนี้ดำเนินการสอบสวนมาชอบแล้ว

ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยอายุ 17 ปีเศษ แต่จำเลยไม่ได้รับสิทธิการพิจารณาโทษอย่างเยาวชนเลย การดำเนินคดีของจำเลยเมื่อจำเลยอายุครบ28 ปีนั้น ก็มิใช่ความผิดของจำเลย การที่ศาลจะนำวิธีพิจารณามาตรา 104 วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มากำหนดโทษจำเลยให้เข้าเรือนจำจึงเป็นการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 104 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลที่พิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญา หรือวิธีการเพื่อความปลอดภัยได้ แต่ในคดีนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณาและพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่ใช้ดุลพินิจให้นำวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนมาใช้แทนการลงโทษทางอาญานั้นจึงเป็นอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

อนึ่ง ในการชิงทรัพย์ครั้งนี้ นายพรชัยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนจี้ผู้เสียหาย ส่วนจำเลยกระชากสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายไปซึ่งตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 ตรีมีวัตถุประสงค์จะลงโทษหนักขึ้นเฉพาะผู้ที่มีหรือใช้อาวุธปืนในการชิงทรัพย์ ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 340 ตรี เป็นการไม่ชอบ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 เท่านั้น นอกจากนี้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยมีอายุ 28 ปี การส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมในสถานพินิจนั้นเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม จึงให้ส่งตัวจำเลยไปเรือนจำ โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 วรรคท้ายนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามบทบัญญัติดังกล่าวจะนำมาใช้ในกรณีศาลพิจารณาความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า ควรจะกักตัวหรือควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชน ตาม (1) หรือ(2) ต่อไป หลังจากที่เด็กหรือเยาวชนมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์แล้วให้ศาลระบุในคำพิพากษาให้ส่งตัวไปจำคุกไว้ในเรือนจำตามเวลาที่ศาลกำหนด ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี และไม่ปรับบทตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 104 วรรคท้าย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share