แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วทำร้ายผู้เสียหายทันที เป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกันจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365,295, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานบุกรุกและฐานทำร้ายร่างกายขณะกระทำผิดจำเลยอายุไม่เกิน 17 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365(1)(2)(3) ให้จำคุก 6 เดือนกระทงหนึ่ง และตามมาตรา 295 ให้จำคุก 6 เดือน อีกกระทงหนึ่งรวมสองกระทงจำคุก 1 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงลงโทษจำคุกจำเลย 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364, 365 แต่ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 364, 365 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด โดยลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว จำคุก 6 เดือน และปรับ 600 บาท และคำรับของจำเลยในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 4 เดือน และปรับ 400 บาท เห็นว่าขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 16 ปี ยังไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดีพอไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเพื่อให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30และให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 2 เดือนต่อหนึ่งครั้งมีกำหนด 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งได้ความว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยกับพวกอีก 3 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนบุกรุกเข้าไปในบ้านของนายอ้อม รัตนะ ผู้เสียหาย แล้วทำร้ายนายอ้อมกับพวกจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจริงเห็นว่า การที่จำเลยกับพวกบุกรุกเข้าไปในบ้านผู้เสียหายแล้วทำร้ายผู้เสียหายทันที เป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันดังที่โจทก์ฎีกา…”
พิพากษายืน.