คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้วิธีการยึดอายัดทรัพย์สินและการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่ค้างชำระหนี้ภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 นั้นมีกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2526ซึ่งถือว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1 ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทราบการประเมินแล้วไม่ชำระ จำเลยที่ 1ชอบที่จะใช้อำนาจยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปี การที่จำเลยที่ 1 กับพวกยึดทรัพย์สินของโจทก์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิที่จะใช้วิธีการนี้บังคับแก่โจทก์
กำหนดเวลาบังคับชำระหนี้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 เป็นเรื่องระยะเวลาที่จะบังคับแก่ผู้ที่ค้างชำระหนี้ภาษีอากร ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่ใช่อายุความ กรณีไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้ทำการตรวจสอบการเสียภาษีอากรของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทวีแสงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2520 ถึงวันที่ 30 กันยายน2520 และแจ้งว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทวีแสงยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบแล้วปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวมีต้องชำระภาษีเงินได้เพิ่มเติมเป็นเงิน47,414.65 บาท และจึงต้องเสียเงินเพิ่มตามกฎหมาย 2 เท่าของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ 1 รวมเป็นเงินภาษีและเงินเพิ่ม 142,243.55 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 ประเมินภาษีแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวไม่นำเงินมาชำระแก่จำเลยที่ 1 จึงต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 นอกจากนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินเดือนลูกจ้างโดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ จึงต้องรับผิดชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและเงินเพิ่มเป็นเงิน 729.72 บาท จำเลยที่ 1 มีหนังสือทวงถามให้โจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวแล้ว โดยมีหนังสือทวงถาม 2 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่โจทก์เพิกเฉย ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2536จำเลยที่ 1 ฟ้องขอให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิทักษ์ทรัพย์โจทก์เด็ดขาดและพิพากษาให้โจทก์เป็นบุคคลล้มละลาย ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ส่งเรื่องให้จำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการและในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 สั่งยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ซึ่งมีชื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เพื่อชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างรายห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทวีแสงดังกล่าวโดยแต่งตั้งให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 7เป็นผู้มายึดทรัพย์ของโจทก์ การที่จำเลยทั้งเจ็ดได้ยึดทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวของโจทก์เป็นการทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อเท็จจริง เพราะจำเลยทั้งเจ็ดทราบดีอยู่แล้วว่าหนี้ภาษีอากรค้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดบุญทวีแสงโดยโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการตามสิทธิเรียกร้องของจำเลยทั้งเจ็ดได้กลายเป็นหนี้ที่จำเลยทั้งเจ็ดหมดสิทธิที่จะยึดและขายทอดตลาดเนื่องจากพ้นกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2526 อันเป็นวันแรกที่จำเลยทั้งเจ็ดอาจใช้สิทธิและอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้เป็นต้นไปแล้ว การที่จำเลยทั้งเจ็ดยึดทรัพย์สินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์โดยอ้างอำนาจตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากร จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์และประสงค์จะให้โจทก์เสียหาย เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งจังหวัดสมุทรปราการที่ให้ยึดทรัพย์สินและคำสั่งให้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 35,000 บาท แก่โจทก์และค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยทั้งเจ็ดยึดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในอัตราเดือนละ 5,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเพิกถอนคำสั่งและประกาศยึดทรัพย์สิน

จำเลยทั้งเจ็ดให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 ตลอดจนคำสั่งให้ยึดและขายทอดตลาดที่ดินของโจทก์ได้กระทำโดยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 85865 เลขที่ดิน 3617 หน้าสำรวจ 3124 ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการและสิ่งปลูกสร้างอาคาร 2 ชั้น เลขที่ 189/48 หมู่ที่ 3 ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งเจ็ดว่า จำเลยทั้งเจ็ดยึดทรัพย์สินโจทก์ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 12 หรือไม่เห็นว่า การใช้วิธีการยึดอายัดทรัพย์สินและการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่ค้างชำระหนี้ภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12นั้น มีกำหนดเวลา 10 ปี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2526 ซึ่งถือว่าเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยที่ 1ได้ใช้สิทธิเรียกร้องบังคับเอาแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ทราบการประเมินแล้วไม่ชำระ จำเลยที่ 1 ชอบที่จะใช้อำนาจยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันถัดจากวันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 กับพวกยึดทรัพย์สินของโจทก์ในวันที่ 19พฤศจิกายน 2541 จึงล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 1ย่อมหมดสิทธิที่จะใช้วิธีการนี้บังคับแก่โจทก์ ส่วนที่จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์อ้างว่า คดีนี้ก่อนที่จะพ้น 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งการประเมิน จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เป็นคดีล้มละลายต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2536 เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(2)จำเลยทั้งเจ็ดจึงชอบที่จะยึดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของโจทก์ได้แม้จะเกิน 10 ปี นั้น เห็นว่า กำหนดเวลาบังคับชำระหนี้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ดังกล่าวเป็นเรื่องระยะเวลาที่จะบังคับแก่ผู้ที่ค้างชำระหนี้ภาษีอากรไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงไม่ใช่อายุความกรณีไม่อาจนำเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงมาใช้บังคับ จำเลยทั้งเจ็ดย่อมไม่อาจอ้างเหตุเรื่องอายุความสะดุดหยุดลงได้ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า การที่จำเลยที่ 1 กับพวกยึดทรัพย์สินของโจทก์ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2541 เป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย

พิพากษายืน

Share