คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 286(2) ซึ่งมีผลทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิขออายัดเงินเช่นว่านั้นเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาก็โดยมีเจตนารมณ์จะให้ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลทั้งที่ยังรับราชการอยู่และพ้นจากราชการไปแล้ว ตลอดจนคู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลเหล่านี้ที่ตามกฎหมายมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์หรือบำนาญได้มีเงินเลี้ยงชีพ การที่นำเงินเช่นว่านั้นมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทมาตราดังกล่าว
เงินที่โจทก์นำยึดเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลยซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22และมาตรา 121 โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปะปนกับเงินจำนวนอื่นของจำเลยจนแยกไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จเงินจำนวนดังกล่าวที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้จึงยังคงเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) อันโจทก์จะยึดมาชำระหนี้ไม่ได้อยู่นั่นเอง การอายัดเงินดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ทำให้เงินดังกล่าวแปรสภาพไปจนไม่อาจได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 286 (2) ไม่
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แม้จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอันถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นก็หามีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วได้ไม่ เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ก็เป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดี หรือไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลย

Share