คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปลูกสร้างเรือนในที่ดินของตน ตัวเรือนไม่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ชายคาได้รุกล้ำเข้าไปโดยสุจริตนั้น ย่อมเป็นการปลูกสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 ไม่ใช่ มาตรา 1341 เพราะมาตรา 1341 หมายถึง ทำหลังคาหรือการปลูกสร้างอย่างอื่นโดยมิได้รุกล้ำที่ดินของคนอื่น แต่เมื่อฝนกตกน้ำฝนได้ไหลลงไปยังที่ดินหรือทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งอยู่ติดต่อกัน (ประชุมใหญ่ที่ 20/2505)
มาตรา 1312 เป็นบทบัญญัติพิเศษบังคับแก่เจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของขณะมีการปลูกสร้างหรือเป็นผู้รับโอนในเวลาต่อมา เจ้าของโรงเรือนมีสิทธิขอให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอมได้โดยไม่ต้องรอจนเกิน 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกเรือนในที่ดินของจำเลยแต่หลังคายื่นล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ ทำให้น้ำฝนบนหลังคานั้นตกลงในที่ดินของโจทก์ ขอให้รื้อและใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งว่า ได้รับความคุ้มครองตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒
โจทก์ให้แก้ฟ้องแย้งว่า เป็นเรื่องหลังคารุกล้ำ หาใช่ตัวเรือนไม่ เข้ามาตรา ๑๓๔๑ ไม่ใช่เป็นภารจำยอม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า กรณีเข้ามาตรา ๑๓๑๒ จำเลยทำโดยสุจริตจำเลยย่อมเป็นเจ้าของโรงเรือนที่รุกล้ำแต่ต้งเสียเงินค่าใช้ที่ดิน ให้จดทะเบียนสิทธิเป็นภารจำยอม ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาว่า กรณีต้องใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๑
ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๔๑ นั้นหมายถึงเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ทำหลังคาหรือดการปลูกสร้างอย่างอื่นขึ้นในที่ดินของตนเอง มิได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่ติดต่อกัน แต่เมื่อฝนตกน้ำฝนมิได้ไหลตกลงในที่ดินของคนเท่านั้น แต่ยังพุ่งไปตกลงในที่ดินหรือทรัพย์สินซึ่งอยู่ติดต่ดกันด้วย มาตรานี้ห้ามมิให้กระทำแต่กรณีเรื่องนี้เข้ามาตรา ๑๓๑๒ ึซึ่งใช้บังคับในกรณีสร้าง โรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต มาตรานี้เป็นบทบัญญัติพิเศษ บังคับแก่เจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของขณะมีการปลูกสร้างหรือเป็นผู้รับโอนในเวลาต่อมา การที่จำเลยยังมิได้จดทะเบียนสิทธินั้น ไม่เป็นเหตุให้สิทธิที่จะขอจดทะเบียนภารจำยอมตามที่กฎหมายให้ไว้หมดไป จำเลยได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา ๑๓๑๒ จำเลยมีสิทธิที่จะขอให้จดทะเบียนสิทธิภารจำยอมได้โดยไม่ต้องรอจนเกิน ๑๐ ปี ดังโจทก์ฎีกา แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องเสียค่าใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ตามมาตรา ๑๓๑๒ อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ค่าเสียหายฐานละเมิด

Share