แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สำนวนคดีของศาลในคดีเรื่องอื่นซึ่งเป็นรายงานและสำนวนความของศาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชน โดยให้ประชาชนได้ตรวจดูและอ้างเป็นพยาน ในสำนวนได้ ถือว่าเป็นเอกสารมหาชน จึงได้รับประโยชน์จาก ข้อสันนิษฐานเป็นคุณไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่าโจทก์ที่ 1และเรียกโจทก์ที่ 2 ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 3ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามจดทะเบียนถอนชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 800 ตำบลในเมืองอำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมบ้านเลขที่391/4, 391/7, และ 391/8 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวหากจำเลยทั้งสามไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน และให้นำบ้านและที่ดินดังกล่าวขายหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งเป็น 7 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสามได้รับคนละ 1 ส่วน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การต่อสู้คดีทำนองเดียวกันว่าคดีของโจทก์ทั้งสามขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ทั้งสามมิได้ฟ้องคดีมรดกภายใน 1 ปี นับแต่นายพวงหรือนางเรไรถึงแก่ความตาย คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 991/2525 ไม่ผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อแรกที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์ทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความโดยโจทก์ทั้งสามอ้างสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 991/2525ของศาลชั้นต้นเป็นพยานโดยถือว่าเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงในคดีแล้ว และต้องถือเอาคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 4539/2530ในสำนวนคดีที่อ้างดังกล่าวผูกพันคู่ความคือจำเลยทั้งสามในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145ดังนั้นปัญหาจึงมีว่าโจทก์ทั้งสามได้นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 127 บัญญัติว่า “เอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรองสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารนั้นและเอกสารชนที่มีคำพิพากษาแสดงว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องเป็นหน้าที่ของคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร” และมาตรา 84 บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกล่าวอ้างข้อเท็จจริงอย่างใด ๆ เพื่อสนับสนุนคำฟ้องหรือคำให้การของตนให้หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงนั้นตกอยู่แก่คู่ความฝ่ายที่กล่าวอ้าง ฯลฯ(2) ถ้ามีข้อสันนิษฐานไว้ในกฎหมายเป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายใด คู่ความฝ่ายนั้นต้องพิสูจน์แต่เพียงว่าตนได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่ตนจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานนั้นครบถ้วนแล้ว” เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสามอ้างสำนวนคดีดังกล่าวและตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4539/2530 ซึ่งเป็นรายงานและสำนวนความของศาลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนโดยให้ประชาชนได้ตรวจดูและอ้างพยานในสำนวนได้ จึงถือว่าสำนวนความของศาลเป็นเอกสารมหาชนอย่างหนึ่ง จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานเป็นคุณไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง ตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์แถลงต่อศาลตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 30 มกราคม 2533 ว่าขออ้างสำนวนคดีหมายเลขคดีแดงที่ 991/2535 ของศาลชั้นต้นตามเอกสารหมาย จ.5เป็นพยานเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขแห่งการที่โจทก์ทั้งสามจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานครบถ้วนแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างสำนวนคดีตามเอกสารหมาย จ.5 มายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารเช่นนี้ โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีหน้าที่นำสืบดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย อย่างไรก็ตามในปัญหาข้อนี้ยังได้ความต่อไปอีกว่าฝ่ายจำเลยทั้งสามก็อ้างเอกสารหมาย จ.5 เป็นพยานในคดีและจำเลยทั้งสามก็นำสืบว่ามีสำนวนเอกสารหมาย จ.5 และคำพิพากษาศาลฎีกาในสำนวนดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.4 จริง เพียงแต่กล่าวอ้างที่ดินและบ้านพิพาทก็เป็นของนายประเสริฐฝ่ายเดียว จึงถือได้ว่ามีการนำสืบพยานดังกล่าวเข้าสู้สำนวนความแล้ว จึงชอบที่จะรับฟังเอกสารหมาย จ.5 และ จ.4 ที่โจทก์ทั้งสามอ้างได้ เมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวแล้วเห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกาและพิจารณาใหม่ คำพิพากษาหรือคำสั่งใด ๆ ให้ถือว่าผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือคำสั่งนับตั้งแต่วันที่ได้พิพากษาหรือมีคำสั่งจนถึงวันที่คำพิพากษาหรือมีคำสั่งนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรืองดเสีย ถ้าหากมี ฯลฯ” พิเคราะห์สำนวนคดีที่โจทก์ทั้งสามอ้างตามเอกสารหมาย จ.5 และมีคำพิพากษาศาลฎีกาเอกสารหมาย จ.4ปรากฎว่าเป็นคดีระหว่างนางบุญเสริม กุศลพันธ์ โจทก์นางสมชาติ คงหมื่นไวย ที่ 1 นายสาธิต คงหมื่นไวย ที่ 2นายทัศนีย์ คงหมื่นไว ที่ 3 นางสาวอรวรรณ คงหมื่นไวย ที่ 4จำเลย วินิจฉัยไว้ว่าทายาทได้ร่วมกันครอบครองที่ดินและบ้านที่พิพาทอันเป็นมรดกของนายพวง เช่นนี้เมื่อโจทก์ทั้งสามฟ้องเป็นคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทฟ้องขอแบ่งมรดกที่ทายาทครอบครองร่วมกันและแทนกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1748 ดังนั้น แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754แล้วก็ตาม โจทก์ทั้งสามชอบที่จะฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ได้คดีของโจทก์ทั้งสามจึงไม่ขาดอายุความ”
พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนถอนชื่อในที่ดินโฉนดเลขที่ 800 ตำบลในเมือง อำเภอนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาพร้อมบ้านเลขที่ 391/4 391/7 และ 391/8 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยทั้งสามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน และให้นำที่ดินและบ้านดังกล่าวออกขายหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งเป็น 7 ส่วน ให้โจทก์ทั้งสามได้รับคนละส่วน