คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์ผลงานเพลงพิพาทของ ส. ให้แก่ จ. แล้วย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของ ส. กับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 1 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของ จ. จึงมีสิทธิในผลงานเพลงพิพาท

ย่อยาว

โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายสุรพล สมบัติเจริญ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 เป็นบุตรของนายสุรพลกับโจทก์ที่ 1 โจทก์ทั้งหกจึงเป็นทายาทโดยธรรมของนายสุรพล โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีนี้แทน เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2513 นายจูฮง แซแต้ หรือนายจุลินทร์ เดชานุวงษ์ ได้ขอซื้อเทปต้นแบบอัดเสียงร้องและเสียงดนตรี (มาสเตอร์เทป) ของนายสุรพล โดยนายจูฮงได้วางมัดจำให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 25,000 บาท และโจทก์ที่ 1 ได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานโดยจะตกลงราคาและรายชื่อเพลงในวันทำสัญญาซื้อขาย หลังจากนั้นนายจูฮงก็ไม่ติดต่อมาหาโจทก์ที่ 1 อีก ต่อมาวันที่ 22 ตุลาคม 2542 โจทก์ที่ 1 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 ได้ทำสัญญาอนุญาตให้บริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ใช้สิทธิในคำร้องและทำนองเพลงที่นายสุรพลเป็นผู้สร้างสรรค์จำนวน 50 เพลง วันที่ 25 พฤษภาคม 2543 จำเลยทั้งสองได้นำสัญญาขายลิขสิทธิ์ ฉบับลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2513 มาฟ้องบริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยอ้างว่าเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์ที่ 1 กับนายจูฮงซึ่งถึงแก่ความตายแล้วจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมจึงมีสิทธิ์ในบทเพลงแนบท้ายสัญญาดังกล่าว เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ที่ 1 เนื่องจากโจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์กับนายจูฮง ลายมืชื่อของโจทก์ที่ 1 ในสัญญาขายลิขสิทธิ์พร้อมเอกสารแนบท้ายเป็นลายมือชื่อปลอมและบทเพลงตามรายการบัญชีเพลงแนบท้ายสัญญา ก็มีบทเพลงที่นายสุรพลประพันธ์ขึ้นเพียง 33 เพลง และโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 ก็ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับนายจูฮง การกระทำของจำเลยทั้งสองทำให้โจทก์ทั้งหกได้รับความเสียหาย หากจำเลยทั้งสองไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว โจทก์ทั้งหกก็สามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้สิทธิในบทเพลงจำนวน 33 เพลง ได้ในอัตราเพลงละ 30,000 บาท ขอให้พิพากษาว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลงตามรายการบัญชีเพลงแนบท้ายสัญญาขายลิขสิทธิ์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 จำนวน 33 เพลง คือเพลงที่ 1 เพลงที่ 2 เพลงที่ 4 เพลงที่ 5 ถึงเพลงที่ 32 เพลงที่ 34 และเพลงที่ 35 และให้จำเลยทั้งสองเลิกเกี่ยวข้องเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลงของโจทก์ทั้งหก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 990,000 บาท แก่โจทก์ทั้งหก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 960,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระให้แก่โจทก์ทั้งหกเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาของนายจูฮง แซ่แต้ หรือนายจุลินทร์ เดชานุวงษ์ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายจูฮงกับจำเลยที่ 1 ขณะที่นายสุรพลถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 ยังเป็นผู้เยาว์โจทก์ที่ 1 จึงเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุรพล เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2513 โจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุรพลและผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงของนายสุรพล จำนวน 126 เพลง ให้นายจูฮง ในราคา 25,000 บาท ตามสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่สมบูรณ์ ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ในเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 4, 5 และในเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 เป็นลายมือที่แท้จริง จำเลยทั้งสองยืนยันว่านายสุรพลเป็นผู้แต่งเพลงหนักใจและเพลงแน่ข้างเดียว โดยโจทก์ที่ 1 ได้ยืนยันขณะทำสัญญาว่านายสุรพลเป็นผู้แต่งเพลงทุกเพลงที่โจทก์ที่ 1 ขายให้นายจูฮง โจทก์ทั้งหกทำสัญญาอนุญาตให้บริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) นำเพลงซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของนายจูฮงจำนวน 25 เพลงตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 รวมทั้งเพลงแน่ข้างเดียวไปทำซ้ำในทางการค้า การกระทำของโจทก์ทั้งหกทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายเพลงละ 30,000 บาท เท่ากับที่โจทก์ทั้งหกได้รับจากการอนุญาตขอให้ยกฟ้องและพิพากษาห้ามโจทก์ทั้งหกเกี่ยวข้องกับเพลงจำนวน 126 เพลง ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ให้โจทก์ทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 750,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2542 จนถึง วันฟ้องอีก 56,250 บาท รวม 806,250 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ให้โจทก์ทั้งหกร่วมกันชดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 750,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้ง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยทั้งสอง
โจทก์ทั้งหกให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 โจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับนายจูฮง สัญญาขายลิขสิทธิ์ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 ไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์ที่ 1 ทำสัญญาในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสุรพลหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ที่ 2 ถึงโจทก์ที่ 6 สัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม โจทก์ทั้งหกจึงมีสิทธิอนุญาตให้บริษัทแกรมมี่เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ใช้สิทธิในคำร้องและทำนองเพลงตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 โจทก์ทั้งหกไม่ได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งหกอนุญาตให้บริษัทแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ใช้ลิขสิทธิ์ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 3 ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองได้รับความเสียหาย ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสองได้รับความเสียหายอย่างไร ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ผู้ร้องสอดทั้งสองยื่นคำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองบทเพลงตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 จำนวน 10 เพลง คือ เพลงอกแตก เพลงเสียแล้วเสียไป เพลงคิดถึงแฟน เพลงจูบลาจากนาวี เพลงให้ความหวังผลบ้าง เพลงคนจนน้อยใจ เพลงขอเพียงเป็นเพื่อน เพลงแม่สะเดาบ้านนา เพลงชื่นใจคนจน เพลงแม่นางนกเขา และผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนองบทเพลงตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 2 จำนวน 2 เพลง คือ เพลงบ้าเพราะรัก และเพลงเตือนเพื่อนหนุ่ม ผู้ร้องสอดทั้งสองไม่เคยอนุญาตให้โจทก์ที่ 1 ใช้ลิขสิทธิ์หรือมอบอำนาจให้โจทก์ที่ 1 นำบทเพลงดังกล่าวไปขายให้นายจูฮง แซ่แต้ และผู้ร้องสอดไม่เคยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์บทเพลงดังกล่าวให้บุคคลใด ขอให้พิพากษาว่าผู้ร้องสอดที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลง ตามรายการบัญชีเพลงแนบท้ายสัญญาขายลิขสิทธิ์ เอกสารท้ายคำให้การจำเลยทั้งสองจำนวน 10 เพลง และผู้ร้องสอดที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลง ตามรายการบัญชีเพลงแนบท้ายสัญญาขายลิขสิทธิ์ เอกสารท้ายคำให้การจำเลยทั้งสองจำนวน 2 เพลง ห้ามโจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสองเกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองบทเพลงของผู้ร้องสอดทั้งสอง
โจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิในบทเพลงจำนวน 126 เพลง ตามฟ้องแย้งดีกว่าโจทก์ทั้งหก ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งหก ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอดทั้งสอง และคำขออื่นของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ปัญหาประการต่อไปที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางโดยโจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ไม่ชอบ เพราะพยานหลักฐานโจทก์ทั้งหกมีน้ำหนักฟังได้ว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในคำร้องและทำนองเพลงพิพาท จำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์เพลงพิพาทของโจทก์ ในปัญหานี้ข้อเท็จจริงฟังยุติในเบื้องต้นว่า นายสุรพล สมบัติเจริญ เป็นผู้สร้างสรรค์บทเพลงพิพาทตามเอกสารหมาย ล.1 บางส่วน ต่อมาในปี 2511 นายสุรพลถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 เป็นภริยาของนายสุรพลและ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นบุตรผู้เยาว์ของโจทก์ที่ 1 กับนายสุรพล ผลงานเพลงพิพาทที่นายสุรพลสร้างสรรค์จึงตกเป็นมรดกแก่โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนายสุรพล มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงพิพาทและจำเลยทั้งสองได้ละเมิดลิขสิทธิ์ในผลงานเพลงพิพาทของโจทก์ทั้งหกหรือไม่ ในประเด็นนี้จำเลยทั้งสองให้การและนำสืบต่อสู้ว่า โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทให้แก่นายจูฮง แซ่แต้ หรือนายจุลินทร์ เดชานุพงษ์ โดยเด็ดขาดไปแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจูฮง ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายจูฮง เมื่อนายจูฮงถึงแก่ความตายสิทธิในเพลงพิพาทตามสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงเอกสารหมาย ล.1 ที่นายจูฮงทำไว้กับโจทก์ที่ 1 จึงตกเป็นสิทธิจำเลยทั้งสอง โจทก์ทั้งหกนำสืบโดยโจทก์ที่ 1 ได้ให้ถ้อยคำตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงอ้างว่าได้รับเงินมัดจำค่าซื้อเทปต้นฉบับจากนายจูฮงจำนวน 25,000 บาท จึงได้ลงชื่อไว้เป็นหลักฐานว่าได้รับเงินจากนายจูฮงแล้ว โดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่านายจูฮงได้มาพบโจทก์ที่ 1 เมื่อประมาณกลางปี 2513 ขณะที่โจทก์ที่ 1 นำวงดนตรีไปแสดงที่สะพานควาย นายจูฮงได้มาพบโจทก์ที่ 1 ด้านหลังเวทีเพื่อขอซื้อเทปต้นแบบอัดเสียงของนายสุรพล โจทก์ที่ 1 ได้แจ้งแก่นายจูฮงว่า เทปต้นแบบดังกล่าวอยู่ที่ห้องอัดเสียง นายจูฮงจึงตกลงว่าจะเป็นผู้รวบรวมหาเทปต้นแบบของนายสุรพลและจะเจรจาในเรื่องรายละเอียดว่าจะซื้อเทปต้นแบบเพลงใดบ้าง โดยได้วางเงินมัดจำไว้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 25,000 บาท พร้อมทั้งนำกระดาษที่มีข้อความว่า “ได้รับเงินจากนายจูฮง แซ่แต้ ในจำนวน 25,000 บาท (สองหมื่นห้าพันบาทถ้วน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ให้โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อและตกลงจะทำสัญญาซื้อขายกันภายหลัง โจทก์ที่ 1 จึงลงชื่อในเอกสารดังกล่าว หลังจากนั้นวงดนตรีของโจทก์ที่ 1 ก็เริ่มเสื่อมความนิยม นายจูฮงก็ไม่เคยติดต่อมาหาโจทก์ที่ 1 อีก ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบว่า หลังจากนายสุรพลถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้ไปพบนายจูฮงหลายครั้งเพื่อขอยืมเงินและนำแผ่นเสียงมาขาย เมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม 2513 โจทก์ที่ 1 กับนายยิ่งยง สะเด็ดยาด ได้มาหานายจูฮงที่บริษัทของนายจูฮงเพื่อขายลิขสิทธิ์เพลงของนายสุรพลจำนวน 126 เพลง โดยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 ไว้ เห็นว่า ที่โจทก์ทั้งหกนำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ไม่เคยทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงพิพาทของนายสุรพลให้แก่นายจูฮง ลายมือชื่อในช่องผู้ขายตามสัญญาขายลิขสิทธิ์และบัญชีเพลงแนบท้ายสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 แต่โจทก์ที่ 1 ก็รับว่าโจทก์ที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อของตนไว้ในเอกสารส่วนที่เป็นข้อความว่าไงรับเงินจำนวน 25,000 บาท ไว้โดยโจทก์ที่ 1 อ้างว่าเป็นการลงชื่อรับเงินมัดจำเท่านั้น ในปัญหาเรื่องลายมือชื่อนี้ในระหว่างพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยทั้งสองได้ขอให้ส่งสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 ไปตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 ที่ลงไว้ในเอกสารที่มีข้อความว่ารับเงินจำนวน 25,000 บาท ว่าตรงกับลายมือชื่อที่ระบุว่าเป็นของโจทก์ที่ 1 ในเอกสารแผ่นอื่นๆ ในสัญญาดังกล่าวหรือไม่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์แล้วไม่อาจลงความเห็นได้ อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจดูสัญญาขายลิขสิทธิ์และบัญชีแนบท้ายสัญญาลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 แล้ว ปรากฏว่าลายมือชื่อในช่องผู้ขายตามเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 3 ถึงแผ่นที่ 7 คล้ายกับลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในเอกสารแผ่นที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 1 ยอมรับว่าเป็นลายมือชื่อของตน และเมื่อตรวจดูเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวพบว่ากระดาษที่ใช้ในการทำสัญญาทุกแผ่นเป็นขนาดเดียวกัน ลักษณะสีเดียวกัน ข้อความในสัญญาก็มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันโดยตลอดไม่มีข้อพิรุธว่าได้มีการเพิ่มเติมสัญญาแผ่นต่างๆ ขึ้นมาประกอบแผ่นกระดาษที่โจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อรับเงินไว้ ส่วนรายชื่อเพลงแนบท้ายสัญญาขายลิขสิทธิ์ที่มีการนำสืบโต้เถียงกันระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยทั้งสองว่ามีบางเพลงไม่ใช่ผลงานอันมีลิขสิทธิ์ของนายสุรพลนั้นก็ไม่ใช่สาระสำคัญเพราะกรณีเป็นไปได้ที่มีความผิดพลาดในการระบุรายชื่อเพลงไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญา ที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่า สัญญาดังกล่าวมีข้อพิรุธ คือ ไม่มีการระบุจำนวนเพลงและจำนวนเงินที่มีการซื้อขายกันตามสัญญา การระบุสถานที่ทำสัญญามีข้อพิรุธ ข้ออ้างของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 และนายยิ่งยง สะเด็ดยาด อยู่ด้วยในวันทำสัญญาแต่ไม่ปรากฏว่าบุคคลทั้งสองได้ลงชื่อเป็นพยาน สัญญาดังกล่าวใช้คำว่า “ลงชื่อ” และ “ลงนาม” ในสัญญาฉบับเดียวกัน ลายมือชื่อของโจทก์ที่ 1 เมื่อส่งไปตรวจพิสูจน์แล้ว ผู้เชี่ยวชาญไม่อาจลงความเห็นได้ จำเลยที่ 1 ทำปกแผ่นเสียงโดยระบุว่าเป็นผู้แทนจำหน่ายเท่านั้น ไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงพิพาทกับบุคคลอื่นจำเลยที่ 1 ไม่เคยนำสัญญาดังกล่าวมาอ้างหรือบังคับนั้น เห็นว่า ข้อที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ว่าเป็นข้อพิรุธดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ การไม่ระบุจำนวนเพลงและจำนวนเงินไว้ในสัญญาอาจเป็นเรื่องที่คู่ความได้ตกลงกันแล้ว ในจำนวนเงินที่ได้เขียนข้อความว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินแล้ว ส่วนที่สัญญาระบุสถานที่การพิมพ์สัญญาเอกสารหมาย ล.1 ไม่ตรงกับสถานที่ที่มีการตกลงทำสัญญาก็ไม่ใช่เรื่องผิดวิสัยเพราะการจัดพิมพ์สัญญาอาจจัดทำโดยทนายความซึ่งย่อมระบุสถานที่ในการทำสัญญาว่าคือสำนักงานทนายความได้ การที่จำเลยที่ 1 และนายยิ่งยง สะเด็ดยาด ซึ่งมีการอ้างว่าอยู่ด้วยในขณะทำสัญญา แม้ไม่ลงชื่อก็ไม่ผิดปกติ เช่นเดียวกับการใช้คำว่า “ลงชื่อ” และ “ลงนาม” ซึ่งความแตกต่างกันย่อมอาจเกิดขึ้นได้ ส่วนการที่นายจูฮงไม่ได้ระบุไว้ในปกแผ่นเสียงว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ดี ไม่ได้ฟ้องผู้อื่นรวมทั้งโจทก์ที่ 2 ที่นำเพลงพิพาทไปทำซ้ำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ก็ดี จำเลยทั้งสองได้นำสืบอธิบายว่า การพิมพ์ชื่อบริษัทของนายจูฮงก็เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นเจ้าของและที่นายจูฮงไม่ดำเนินคดีกับโจทก์ที่ 2 ก็เพราะเห็นว่าโจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายสุรพล ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงมีเหตุผลให้รับฟังได้ อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกที่ว่าสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 มีพิรุธจึงฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นๆ ของโจทก์ทั้งหกนั้นเห็นว่าเป็นการโต้แย้งความเห็นในการวินิจฉัยพยานหลักฐานของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ในประเด็นซึ่งไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหกเชื่อว่า โจทก์ที่ 1 ได้ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์ผลงานเพลงพิพาทของนายสุรพลให้แก่นางจูฮงแล้วตามสัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 การที่โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นบุตรของนายสุรพลกับโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์และอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของโจทก์ที่ 1 สัญญาขายลิขสิทธิ์เอกสารหมาย ล.1 จึงมีผลผูกพันโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของนายจูฮงจึงมีสิทธิในผลงานเพลงพิพาท คดีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นอีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share