แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้คำว่า “เจ้าสาว” จะเป็นคำสามัญ แต่จำเลยเอาชื่อคำว่า “เจ้าสาว” มาใช้โดยจงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าร้านของจำเลยคือร้านของโจทก์หรือเป็นสาขาหรือเกี่ยวข้องกับร้านของโจทก์ การกระทำของจำเลยย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์กับจำเลยดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันแม้มิได้อยู่ในทำเลละแวกเดียวกันลูกค้าที่นิยมในชื่อเสียงของร้านโจทก์อาจจะเข้าใจผิดไปตัดเย็บหรือซื้อชุดวิวาห์จากร้านของจำเลยอันเป็นการแย่งลูกค้าจากโจทก์ไปส่วนหนึ่งและหากร้านจำเลยตัดเย็บชุดวิวาห์มีคุณภาพไม่ดีหรือประกอบกิจการไม่เป็นที่พอใจแก่ลูกค้าก็อาจกระทบต่อชื่อเสียงของร้านโจทก์ให้ต้องเสื่อมเสียไปด้วยย่อมส่งผลต่อรายได้ของโจทก์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในการใช้นามที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวได้ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำคำว่า “เจ้าสาว” ซึ่งเป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ประกอบกิจการร้านจำหน่ายสินค้าของจำเลย โดยไม่มีสิทธิและเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์นั้น ตราบใดที่จำเลยยังคงใช้คำดังกล่าวอยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดมา โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยระงับการกระทำนั้นอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการขายเสื้อสำเร็จรูปประเภทชุดวิวาห์เช่นเดียวกับโจทก์ ระบุใช้ชื่อร้านของจำเลยว่า”ร้านเจ้าสาว บางลำพู” และจำเลยได้ตกแต่งหน้าร้านและป้ายชื่อร้านว่า “เจ้าสาว” เลียนแบบใกล้เคียงกับร้านของโจทก์ซึ่งการกระทำของจำเลยย่อมมีผลทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจผิดได้ว่า ร้าน “เจ้าสาว” ของจำเลยมีความเกี่ยวข้องกับโจทก์หรือเป็นร้านเดียวกับโจทก์หรือเป็นสาขาของโจทก์อันเป็นการแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าจากชื่อร้าน”เจ้าสาว” ของโจทก์ เป็นการใช้สิทธิที่มีแต่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้บังคับจำเลยระงับการใช้คำว่า “เจ้าสาว” หรือ “เจ้าสาว บางลำพู”เป็นชื่อสถานประกอบพาณิชย์กิจของจำเลยอีกต่อไป และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะเลียนเครื่องหมายการค้า”เจ้าสาว” ของโจทก์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในลักษณะใด ๆ ทั้งห้ามมิให้จำเลยกระทำการใด ๆ เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้า”เจ้าสาว” ของโจทก์ตลอดไป
จำเลยให้การว่า จำเลยใช้ชื่อร้านว่า “เจ้าสาว” เพื่อให้รู้ลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าและการประกอบกิจการของจำเลยเกี่ยวกับชุดวิวาห์จำเลยใช้คำว่า “เจ้าสาว” อย่างคำสามัญมิได้ใช้อย่างเครื่องหมายการค้า จำเลยใช้ชื่อดังกล่าวโดยสุจริตไม่มีเจตนาลวงให้สาธารณชนสับสนหลงผิดว่าชุดวิวาห์ของจำเลยเป็นชุดวิวาห์ของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยไม่เคยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “เจ้าสาว” มาก่อน ไม่มีการกระทำใดที่มีลักษณะเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์อันจะถือเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยระงับการใช้คำว่า “เจ้าสาว”หรือ “เจ้าสาว บางลำภู” เป็นชื่อสถานประกอบพาณิชยกิจของจำเลยอีกต่อไป และห้ามมิให้จำเลยใช้เครื่องหมายการค้า”เจ้าสาว” ของโจทก์หรือกระทำการใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตลอดไป
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันรับฟังได้เป็นยุติว่า เดิมนางอุไร เสาวพุทธเวช มารดาของนางสาวพรวิภา เสาวพุทธเวช กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ได้ประกอบกิจการร้านตัดเย็บเสื้อผ้าและจำหน่ายชุดวิวาห์ใช้ชื่อร้านว่า “ฮุ่ยแซ” มานานประมาณ 40 ปี ตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช นางอุไรได้มอบกิจการร้านดังกล่าวให้แก่นางสาวพรวิภาดำเนินการตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาต่อมาวันที่ 28 มิถุนายน 2533 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดใช้ชื่อว่า “บริษัทเจ้าสาว จำกัด” สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 1113-1115 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนในเขตพญาไท กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย จ.18 เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2534 โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้า”เจ้าสาว” มีอักษรโรมันประกอบอยู่ใต้คำดังกล่าวว่า”JAO-SAO” ใช้กับสินค้าประเภทเสื้อผ้าสำเร็จรูปชุดวิวาห์สำหรับสินค้าจำพวก 38 ทั้งจำพวก ตามหนังสือคู่มือรับจดทะเบียนเอกสารหมาย จ.3 ส่วนจำเลยตั้งร้านใช้ชื่อว่า “เจ้าสาว”ตั้งอยู่เลขที่ 74-76 ถนนตะนาว แขวงตลาดยอด เขตพระนครกรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้าชุดวิวาห์ จำเลยจดทะเบียนพาณิชย์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536ระบุใช้ชื่อร้านว่า “เจ้าสาว บางลำพู” ตามสำเนาใบทะเบียนพาณิชย์เอกสารหมาย ล.4 และคำขอจดทะเบียนพาณิชย์เอกสารหมายจ.4 ชื่อร้านของโจทก์และชื่อร้านของจำเลยปรากฏตามภาพถ่ายสภาพร้าน หมาย จ.11 จ.13 กับ จ.14 และ จ.16 ร้านของโจทก์กับร้านของจำเลยรับจ้างตัดเย็บและจำหน่ายชุดวิวาห์ ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเดียวกัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยระงับการใช้คำว่า “เจ้าสาว”ในการประกอบการค้าของจำเลยตามฟ้องได้เพียงใดหรือไม่เห็นว่า โจทก์ประกอบกิจการร้านตัดเย็บและจำหน่ายชุดวิวาห์โดยใช้ชื่อว่า “เจ้าสาว” ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2533 และต่อมาได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2533โจทก์ได้ประกอบกิจการดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงบัดนี้นางสาวพรวิภา เสาวพุทธสุเวช กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เบิกความว่าเมื่อปี 2536 พยานได้ทราบจากญาติว่า มีร้านชื่อว่า”เจ้าสาว” ที่บางลำภู เมื่อนางสาวพรวิภาไปตรวจสอบพบว่ามีร้านชื่อดังกล่าวตั้งอยู่เลขที่ 74-76 ถนนตะนาว แขวงตลาดยอดเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการรับตัดเย็บชุดวิวาห์เช่นเดียวกับโจทก์จากนั้นจึงได้ไปตรวจสอบที่สำนักงานทะเบียนพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์พบว่า จำเลยได้ขอจดทะเบียนพาณิชย์โดยใช้ชื่อในการประกอบพาณิชยกิจว่า”ร้านเจ้าสาว บางลำพู” เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2536 โดยในคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ระบุว่าได้เริ่มประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2536 ตามสำเนาคำขอจดทะเบียนพาณิชย์เอกสารหมาย จ.2 ซึ่งเอกสารคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคำขอที่จำเลยยื่นต่อทางราชการ ที่จำเลยนำสืบว่าจำเลยใช้ชื่อดังกล่าวเป็นชื่อประกอบการค้าของจำเลยตั้งแต่ปี 2533เป็นการใช้ชื่อก่อนโจทก์นั้น ขัดแย้งกับวันเริ่มประกอบกิจการตามที่จำเลยระบุไว้ในคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อเชื่อว่าร้านจำเลยเปิดดำเนินกิจการในปี 2536 อันเป็นวันภายหลังที่โจทก์ดำเนินกิจการประเภทเดียวกันแล้ว เมื่อโจทก์ใช้ชื่อว่า “เจ้าสาว” มานานจนมีชื่อเสียงคนรู้จักกันว่าร้านของโจทก์ตัดและจำหน่ายชุดวิวาห์มีคุณภาพดีและเป็นที่นิยมทั่วไปโจทก์จึงมีสิทธิใช้คำว่า “เจ้าสาว” เป็นชื่อของโจทก์และชื่อในการประกอบการค้ามาก่อนจำเลยและปรากฏว่าเมื่อปี 2534โจทก์ได้รับการจดทะเบียนคำว่า “เจ้าสาว JAO-SAO” เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.3 ด้วยการที่จำเลยนำเอาชื่อคำว่า “เจ้าสาว” ไปใช้ประกอบกิจการค้าร้านตัดชุดวิวาห์เช่นเดียวกับโจทก์นั้น เมื่อพิจารณาภาพถ่ายร้านของโจทก์เปรียบเทียบกับร้านของจำเลยตามภาพถ่ายหมาย จ.7 ถึง จ.10 แล้ว เห็นได้ว่า ทั้งร้านของโจทก์และร้านของจำเลยต่างมีป้ายชื่อว่า “เจ้าสาว” ติดอยู่เหนือหน้าร้านเรียกขานชื่อเดียวกันและในตู้กระจกของร้านทั้งสองฝ่ายมีหุ่นสวมชุดวิวาห์ในท่ายืนและท่านั่งโชว์อยู่ แม้ตัวอักษรชื่อร้านของโจทก์เป็นสีแดง ส่วนตัวอักษรร้านของจำเลยเป็นอักษรลวดลายเล่นหางสีทอง แต่ลักษณะคล้ายลายมือเขียนเหมือนกัน เมื่อมองด้วยสายตาโดยทั่วไปแล้วเห็นว่า ชื่อคำว่า “เจ้าสาว” ที่ร้านของจำเลยมีลักษณะคล้ายคลึงกับชื่อร้านของโจทก์และการตกแต่งร้านก็คล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่า จำเลยขอจดทะเบียนพาณิชย์โดยใช้ชื่อว่า “ร้านเจ้าสาว บางลำพู” แต่ในชั้นแรกจำเลยก็หาได้ใช้ชื่อร้านว่า “เจ้าสาว บางลำพู” ตามที่จดทะเบียนไว้ไม่แต่กลับใช้ชื่อร้านว่า “เจ้าสาว” เพียงคำเดียวเท่านั้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายป้ายชื่อร้านของโจทก์ดังกล่าวแล้วเป็นข้อพิรุธส่อแสดงว่าจำเลยน่าจะมีเจตนาใช้ชื่อ “เจ้าสาว” ให้คล้ายกับโจทก์และเมื่อฝ่ายโจทก์แจ้งห้ามจำเลยใช้ชื่อว่า “เจ้าสาว” จำเลยจึงได้เติมคำว่า “บางลำภู” ต่อจากชื่อ คำว่า “เจ้าสาว”ตามภาพถ่ายหมาย ล.8 ซึ่งคำว่า “บางลำภู” ที่เดิมภายหลังดังกล่าวก็ใช้ตัวอักษรขนาดเล็กและลักษณะตัวอักษรแตกต่างจากชื่อร้านคำว่า “เจ้าสาว” ที่ยังคงใช้อยู่เดิม และที่ถุงบรรจุสินค้าตลอดจนภาพโฆษณาชุดวิวาห์ของจำเลยในนิตยสารหลายฉบับตามเอกสารหมาย ล.13 ถึง ล.18 จำเลยใช้คำว่า “เจ้าสาว”ลักษณะเดียวกับชื่อหน้าร้านของจำเลยดังกล่าว โดยบางแห่งมีอักษรคำว่า “บางลำภู” อยู่ใต้คำว่า “เจ้าสาว” บางแห่งก็ใช้คำ “บางลำภู” ต่อท้ายคำว่า “เจ้าสาว” แต่คำว่า”บางลำภู” จะเป็นอักษรตัวเล็กกว่าคำว่า “เจ้าสาว” อย่างเห็นได้ชัด บางแห่งคำว่า “บางลำภู” ก็อยู่ในวงเล็บ เป็นการแสดงว่าจำเลยยังคงใช้ชื่อคำว่า “เจ้าสาว” คล้ายของโจทก์เป็นส่วนที่เด่นเป็นสาระสำคัญ ประกอบกับคำว่า “บางลำภู” เป็นชื่อเรียกย่านการค้าที่ตั้งร้านของจำเลย จึงอาจทำให้เข้าใจได้ว่าคำว่า “บางลำภู” ที่จำเลยใช้เป็นส่วนประกอบย่อย ๆ ดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงสถานที่ตั้งร้านหรือเป็นลักษณะสาขาของร้าน “เจ้าสาว” อันเป็นเหตุให้ประชาชนเข้าใจผิดว่าร้านของจำเลยคือร้านของโจทก์หรือเป็นสาขาหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านของโจทก์ได้ ซึ่งข้อนี้นางสาววรพรรณ สุขเกตุ พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อปี 2536 นางสาววิภาพี่สาวพยานจะแต่งงาน พยานจึงได้แนะนำนางสาววิภาให้ไปตัดชุดวิวาห์ที่ร้านของโจทก์ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ต่อมาวันรุ่งขึ้นพยานกับนางสาววิภาเดินซื้อของชำร่วยที่ย่านบางลำภู พบเห็นร้านตัดชุดวิวาห์ชื่อว่า”เจ้าสาว” อยู่ที่นั่น พยานเข้าใจว่าเป็นสาขาร้าน “เจ้าสาว”ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิของโจทก์เพราะป้ายชื่อร้านตลอดจนการจัดหน้าร้านคล้ายคลึงกับร้านของโจทก์ คำของพยานโจทก์ดังกล่าวสอดคล้องกับคำของนางสาวพรวิภากรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ว่า มีลูกค้าของร้านโจทก์ชื่อนางสาววิภากับนางสาววรพรรณมาถามพยานว่าโจทก์ได้เปิดร้านสาขาที่บางลำภูหรือไม่ เพราะพยานเห็นมีชื่อร้านซ้ำกัน 2 แห่ง ดังนี้แม้คำว่า”เจ้าสาว” จะเป็นคำสามัญก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวมาข้างต้นย่อมบ่งชี้ว่าจำเลยมิได้ใช้ชื่อดังกล่าวโดยสุจริตโดยบังเอิญ หรือเป็นคนคิดประดิษฐ์คำดังกล่าวขึ้นเองดังที่อ้างแต่จำเลยเอาชื่อคำว่า “เจ้าสาว” มาใช้โดยจงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ร้านของจำเลยคือร้านของโจทก์หรือเป็นสาขาหรือเกี่ยวข้องกับร้านของโจทก์ การกระทำของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์เสียหายเพราะโจทก์กับจำเลยดำเนินธุรกิจอย่างเดียวกันแม้มิได้อยู่ในทำเลละแวกเดียวกันแต่ก็อยู่ในกรุงเทพมหานครด้วยกันลูกค้าที่นิยมในชื่อเสียงของร้านโจทก์อาจเข้าใจผิดไปตัดเย็บหรือซื้อชุดวิวาห์จากร้านของจำเลยก็เป็นการแย่งลูกค้าของโจทก์ไปส่วนหนึ่ง และหากร้านจำเลยตัดเย็บชุดวิวาห์มีคุณภาพไม่ดีหรือประกอบกิจการไม่เป็นที่พอใจแก่ลูกค้าก็อาจกระทบต่อชื่อเสียงของร้านโจทก์ให้ต้องเสื่อมเสียไปด้วย ย่อมส่งผลต่อรายได้ของโจทก์ดังนั้น การกระทำของจำเลยในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำละเมิดสิทธิในการใช้นามที่ก่อให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 และเป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 44 โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยระงับการกระทำดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปตามที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่ปี 2533 แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบถึงเหตุแห่งการละเมิดตั้งแต่ปี 2533 แล้ว แต่โจทก์มิได้ดำเนินการฟ้องร้องภายใน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยนำคำว่า “เจ้าสาว” ซึ่งเป็นชื่อและเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้ประกอบกิจการร้านจำหน่ายสินค้าของจำเลยโดยไม่มีสิทธิและเป็นการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์นั้นตราบใดที่จำเลยยังคงใช้คำดังกล่าวอยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อเนื่องตลอดมา ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยระงับการกระทำนั้นอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความดังที่จำเลยอ้าง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้นทุกข้อ”
พิพากษายืน