คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739-740/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การเลิกจ้างอย่างไรเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 นั้น ศาลสามารถวินิจฉัยได้โดยคำนึงถึงเหตุอันควรไม่ควรในการเลิกจ้าง.ประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งไม่จำต้องวินิจฉัยโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121, 123 ซึ่งเป็นคนละกรณีกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลยตำแหน่งหัวหน้าหน่วยช่างเครื่อง เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๒๔ สหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลย และเป็นข้อพิพาทที่ไม่สามารถตกลงกันได้ต้องเข้าสู่การชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ในระหว่างการชี้ขาด จำเลยเลิกจ้างโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียงและเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ และเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม โดยได้รับค่าจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่า โจทก์เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ระดับผู้บังคับบัญชาจึงเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๕ โจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานสิ่งทอไทยเกรียง จำเลยจึงมิได้ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ และโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม แต่ไม่ระบุว่าไม่เป็นธรรมอย่างไร เป็นฟ้องเคลือบคลุมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีพิจารณาคดีแรงงานไม่ใช่บทบัญญัติที่กำหนดถึงการกระทำอันไม่เป็นธรรม เหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานในหน้าที่ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์แทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา ๑ เดือน และจ่ายค่าชดเชยให้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์เป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา ต้องห้ามมิให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๙๕ วรรคสองและโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในข้อเรียกร้อง กรณีไม่จำต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ เหตุเลิกจ้างที่เท็จจริงน่าเชื่อว่าเกิดจากการนัดหยุดงานซึ่งโจทก์สำนวนแรกร่วมเป็นโฆษกและโจทก์สำนวนหลังมีส่วนพูดให้กำลังใจแก่คนงานในการชุมนุมนัดหยุดงาน จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษาให้จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานดังเดิมในอัตราค่าจ้างที่ได้รับขณะถูกเลิกจ้าง
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและเป็นการเลิกจ้างที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑ ซึ่งเป็นคนละกรณีต่างกัน การที่จะวินิจฉัยว่า เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่นั้นถึงแม้ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การเลิกจ้างอย่างไรเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมก็ตาม แต่ศาลก็สามารถวินิจฉัยได้ตามหลักธรรมดาโดยคำนึงถึงเหตุอันควรไม่ควรในการเลิกจ้างประกอบกับระเบียบข้อบังคับการทำงานซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง โดยไม่จำต้องวินิจฉัยโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๒๑, ๑๒๓ ซึ่งเป็นคนละกรณีกันดังกล่าว
พิพากษายืน

Share