คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยโต้เถียงกันในประเด็นที่ว่า จำเลยกำหนด ค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประเด็นดังกล่าวเกิดจากที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีถูกเวนคืนมูลแห่งคดีจึงเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีเมื่อโจทก์ขออนุญาตฟ้องและศาลแพ่งธนบุรีอนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4(2) การกำหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืน มีกฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชน จำเลยไม่อาจกำหนดค่าทดแทนให้ตามใจชอบ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลกำหนดค่าทดแทนให้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสมได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินรวม 4 โฉนดมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 เพื่อใช้สร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ที่ดิน 4 โฉนดของโจทก์ดังกล่าวถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้และจำเลยเข้าครอบครองที่ดินและตีราคาที่ดินโจทก์เพื่อใช้ค่าทดแทนจำเลยตีราคาที่ดินเป็นค่าทดแทนไม่เป็นธรรมเพราะไม่คำนวณจากราคาซื้อขายในท้องตลาดขณะเวนคืนตามกฎหมาย ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงกว่าที่จำเลยกำหนดค่าทดแทน โจทก์ได้โต้แย้งและไม่ยอมรับราคาที่ดินที่จำเลยตีราคา จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ดินไปวางต่อสำนักงานวางทรัพย์กลาง กรมบังคับคดีโจทก์ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วและได้โต้แย้งสิทธิไว้ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ส่วนที่ขาดพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์เป็นค่าทดแทนที่เหมาะสมเป็นธรรมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนเป็นเงิน874,150 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่ามูลเหตุที่ก่อให้เกิดการเวนคืนการพิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนและการจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืนและการยื่นคำร้องคัดค้านการกระทำของจำเลยเกิดขึ้นที่สำนักงานของจำเลยที่แขวงลาดยาว เขตบางเขน กรุงเทพมหานครมูลคดีแห่งการโต้แย้งสิทธิจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลแพ่งเห็นว่า โจทก์จำเลยโต้เถียงในประเด็นที่ว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ประเด็นที่โจทก์จำเลยโต้เถียงกันดังกล่าวเกิดจากที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีถูกเวนคืนมูลแห่งคดีจึงเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลแพ่งธนบุรีเมื่อโจทก์ขออนุญาตฟ้องและศาลแพ่งธนบุรีอนุญาตให้โจทก์ฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องที่ศาลแพ่งธนบุรีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 4(2) ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์และจำเลยเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 2644 และ 2652 ว่าโจทก์ควรได้รับค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวเท่าใด สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2644 ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบรับกันฟังได้ว่า จำเลยได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่นางวัลลีย์ นันทวะกุล เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2364และ 24874 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินโฉนดเลขที่ 2644ของโจทก์ในราคาตารางวาละ 2,800 บาท เห็นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 2644 ตั้งอยู่ติดถนนซอยซึ่งสามารถออกสู่ถนนสุขสวัสดิ์ได้ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 2364 และ 24874ของนางวัลลีย์ไม่ติดถนนซอยดังกล่าวปรากฏตามแผนที่เอกสารหมาย จ.1 ข. ที่ดินของโจทก์แปลงดังกล่าวจึงมีทำเลดีกว่า ราคาที่ดินย่อมจะสูงกว่าราคาที่ดินของนางวัลลีย์จึงน่าจะมีราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ และเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 เพื่อใช้สร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ใช้บังคับ ตารางวาละ3,200 บาท ดังที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดค่าทดแทนที่ดินโฉนดเลขที่ 2644 ของโจทก์ตารางวาละ3,200 บาท สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2652 อยู่ติดกับถนนสุขสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2523 ธนาคารกรุงเทพจำกัด ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4420 เนื้อที่ 2 งาน 22 ตารางวาในราคา 3,300,000 บาท ปรากฏตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย จ.28และจ.29 เฉลี่ยแล้วตารางวาละ 14,864.86 บาทเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2524 ธนาคารกสิกรไทยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 17846 เนื้อที่ 1 งาน 63 ตารางวาราคา 5,705,000 บาท ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่3035 ปรากฏตามสำเนาโฉนดที่ดินสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการธนาคารกสิกรไทย และสำเนาบันทึกข้อตกลงแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเอกสารหมาย จ.32, จ.47 และ จ.48คิดเป็นราคาตารางวาละ 35,000 บาท ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นที่ว่างเปล่าอยู่ริมถนนสุขสวัสดิ์ด้านเดียวกับที่ดินพิพาท ห่างที่ดินพิพาทประมาณ 500 เมตร และ 800 เมตรตามลำดับ แม้ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวผู้ซื้อจะซื้อไปเพื่อสร้างเป็นสำนักงานธนาคาร ซึ่งจำเป็นจะต้องซื้ออย่างรีบด่วนราคาที่ดินจะสูงกว่าปกติแต่การซื้อขายดังกล่าวก็กระทำก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะและเขตยานนาวากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ โดยเฉพาะที่ดินที่ธนาคารกสิกรไทยซื้อธนาคารกสิกรไทยซื้อก่อนพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใช้บังคับด้วย เป็นเวลา 10 เดือนที่ดินในบริเวณดังกล่าวย่อมมีราคาสูงขึ้นเพราะเมื่อธนาคารไปตั้งสำนักงานสาขาขึ้น ณ ที่ใด แสดงว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียงย่อมเป็นชุมชนที่เจริญมากแล้ว ราคาที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับที่ธนาคารกสิกรไทยซื้อน่าจะมีราคาที่ซื้อขายในท้องตลาดไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของราคาที่ดินที่ธนาคารกสิกรไทยซื้อที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนให้แก่โจทก์ตารางวาละ 15,000 บาท จึงเหมาะสมแล้วที่ศาลล่างทั้งสองพิจารณามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนฎีกาโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การที่รัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของราษฎรมาให้จำเลยสร้างทางพิเศษ เป็นการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกในการจราจรเป็นพิเศษ การช่วยค่าทดแทนไม่มีลักษณะเป็นการซื้อขาย แต่เป็นเงินชดเชยที่กำหนดให้โดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสม นั้น เห็นว่า การกำหนดค่าทดแทนให้แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ถูกเวนคืน มีกฎหมายบัญญัติไว้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งฝ่ายรัฐบาลและเอกชนจำเลยไม่อาจกำหนดค่าทดแทนให้ตามใจชอบ เมื่อโจทก์เห็นว่าจำเลยกำหนดค่าทดแทนให้ไม่เป็นธรรม โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลกำหนดค่าทดแทนให้อย่างเป็นธรรมและเหมาะสมได้ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนเพิ่มให้แก่โจทก์อีกจำนวน 130,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2525 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share