คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้มีดปลายแหลมรุมฟันแทงผู้เสียหายถูกที่บริเวณศีรษะ ไหล่ และหลังโดยเจตนาฆ่า เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยที่ 1ไม่ได้กระทำผิดฐานพยายามฆ่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดไล่ตามผู้เสียหายหลังจากผู้เสียหายวิ่งหลบหนีจากที่เกิดเหตุการกระทำของจำเลยที่ 1 ใกล้ชิดต่อผลแห่งการทำร้าย ถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด มีความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายอันเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก และโจทก์จะฎีกาว่าการกระทำส่วนนี้เป็นความผิดฐานพยายามฆ่าก็ไม่ได้ เพราะเป็นฎีกาที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1นอกเหนือไปจากคำฟ้องของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 พาอาวุธมีดปลายแหลมยาวประมาณ20 นิ้ว ติดตัวเข้าไปในบริเวณวัดเจริญสุขาราม ซึ่งเป็นที่ชุมนุมชนที่ได้จัดให้มีขึ้นเพื่อนมัสการและการรื่นเริงโดยไม่มีเหตุอันสมควร และจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้มีดปลายแหลมที่จำเลยที่ 1 พาติดตัวไปดังกล่าวและมีดปลายแหลมยาวประมาณ16 นิ้ว อีก 1 เล่ม เป็นอาวุธรุมฟัน แทงนายมนัสหรือป๊อบอยู่ตระกูล ผู้เสียหาย ถูกที่บริเวณศีรษะ ไหล่และหลังโดยเจตนาฆ่าแต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายวิ่งหลบหนีไปได้ทันและมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าขัดขวางไว้เสียก่อน ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 371, 80, 83, 91 ริบมีดปลายแหลมของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80, 83, 371, 91 ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับ 90 บาท รวมจำคุก10 ปี ปรับ 90 บาท คำให้การชั้นสอบสวน และข้อนำสืบในชั้นพิจารณาของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอันเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ริบมีดปลายแหลมยาวรวมทั้งด้าม 20 นิ้ว 1 เล่ม ของกลาง คำขออื่นให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 80 ให้จำคุก 9 เดือนทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 6 เดือน ปรับ 60 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามทำร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295, 80 เป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรกหรือไม่นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 3วินิจฉัยในตอนแรกว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนที่ทำร้ายผู้เสียหาย อีกทั้งเสื้อผ้าและอาวุธมีดของจำเลยที่ 1 ไม่มีรอยโลหิตติดอยู่และข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้เสียหายถูกทำร้าย จำเลยที่ 1 ร่วมทำร้ายผู้เสียหายหรือขัดขวางมิให้ผู้เสียหายหลบหนี จำเลยที่ 1ให้การปฏิเสธโดยตลอด ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามฆ่า เห็นว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้ได้วินิจฉัยข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธรุมฟันแทงผู้เสียหายถูกที่บริเวณศีรษะ ไหล่และหลัง โดยเจตนาฆ่า แต่การกระทำไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายหลบหนีไปได้ทัน และมีเจ้าพนักงานพบเห็นการกระทำของจำเลยและเข้าขัดขวางไว้เสียก่อน ผู้เสียหายจึงไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เพียงแต่ได้รับอันตรายแก่กาย ตามผลการตรวจบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องแล้ว ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยต่อไปอีกว่า แต่จากคำเบิกความของผู้เสียหายนายสุพจน์ นายดาบตำรวจสุรินทร์และสิบตำรวจเอกวิชัย ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถืออาวุธมีดยาวประมาณ 20 นิ้ว ไล่ตามผู้เสียหายหลังจากผู้เสียหายวิ่งหลบหนีจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 1 ใกล้ชิดต่อผลแห่งการทำร้ายถือว่าเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะผู้เสียหายวิ่งเร็วจำเลยไล่ไม่ทัน แม้จะทำร้ายไม่สำเร็จก็ต้องมีความผิดฐานพยายามทำร้าย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้ายนั้น เห็นว่า กรณีตามมาตรา 192 วรรคท้าย ต้องเป็นเรื่องความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่างแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองศาลลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่าหลังจากผู้เสียหายถูกตีที่ศีรษะและถูกแทงที่ไหล่และหลังแล้ว ผู้เสียหายได้วิ่งออกจากที่เกิดเหตุ การที่จำเลยที่ 1 ถือมีดวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปนั้นเป็นเหตุการณ์คนละตอนกับความผิดตามที่โจทก์ฟ้องซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยแล้วว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิด ดังนั้น ข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพยายามทำร้ายจึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้นไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 1 อีก
ส่วนฎีกาของโจทก์นั้น โจทก์ไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ที่วินิจฉัยในตอนแรกว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามฆ่า คงฎีกาคัดค้านในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า หลังจากผู้เสียหายถูกคนร้ายหลายคนร่วมกันทำร้ายโดยใช้ขวดตีถูกศีรษะและถูกแทงบริเวณหลังแล้วได้วิ่งหลบหนี จำเลยที่ 1 ซึ่งมีอาวุธมีดยาวประมาณ 20 นิ้ววิ่งไล่ตาม โดยโจทก์ฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพยายามนั้นโจทก์เห็นพ้องด้วย แต่หาใช่พยายามทำร้าย กล่าวคือ อาวุธมีดที่จำเลยที่ 1 ใช้ยาวถึง 20 นิ้ว สามารถทำอันตรายถึงชีวิตได้จำเลยที่ 1 มีโอกาสที่จะแทงทำร้ายผู้เสียหายได้เนื่องจากวิ่งไล่มาในระยะห่างเพียง 5 เมตร จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่านั้นเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ในส่วนที่วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานพยายามทำร้ายเป็นการพิพากษาเกินคำขอ หรือที่มิได้กล่าวในคำฟ้อง ดังนั้นฎีกาโจทก์จึงเป็นฎีกาที่ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 นอกเหนือไปจากคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 80 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share