คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2536

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยเข้าทำร้ายผู้เสียหาย จำเลยพูดว่า”เอาปืนมา” พวกของจำเลยก็ส่งอาวุธปืนให้จำเลยแล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหาย จำเลยเพิ่งได้รับอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนบรรจุอยู่ในลูกโม่ 6 นัดจากพวกของจำเลยที่ส่งให้ในที่เกิดเหตุ พวกของจำเลยจึงเป็นผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวก่อนที่จะส่งให้จำเลยและคำว่า “มี” ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 4(6)ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครอง ดังนั้น การที่จำเลยบอกให้พวกส่งอาวุธปืนและพวกก็ส่งให้ แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเองซึ่งพวกของจำเลยก็ยังอยู่ที่เกิดเหตุนั้นด้วย พวกของจำเลยจึงยังคงควบคุมดูแลอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิด หาใช่ว่าพวก ของจำเลยได้มอบให้จำเลยครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยเป็นอิสระไม่ ย่อมไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนนั้น เพราะจำเลยมิได้ยึดถืออาวุธปืนและกระสุนปืนเพื่อตนเอง สิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนยังคงอยู่กับพวกของจำเลย ฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองทั้งพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้พาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยจึงมิได้กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนด้วย จำเลยไม่ได้ฎีกาในปัญหาที่ว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขึ้นมา แต่เมื่อจำเลยมิได้กระทำความผิด ดังกล่าวศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนขนาด .38 ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของนายทะเบียนประทับ 1 กระบอก กับกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 นัด ไว้ในครอบครอง โดยไม่ได้รับอนุญาตและพาอาวุธปืนกับกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมืองหมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวแล้วจำเลยกับพวกในอีกคดีหนึ่งและพวกอีกสี่คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวจ้องยิงนายจักรกฤษณ์ สุนันทรัตน์ ผู้เสียหายโดยมีเจตนาฆ่าจำเลยกับพวกลงมือกระทำผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอดเนื่องจากมีผู้เข้าช่วยเหลือและผู้เสียหายหลบหนีได้ทัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 80, 83, 91,288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 ทวิ และขอให้ริบของกลาง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72 วรรคแรก, 72 ทวิ วรรคสอง ให้เรียงกระทงลงโทษ ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่หนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 3 ปี ริบของกลาง คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ วรรคสอง คงจำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่จำเลยเข้าทำร้ายผู้เสียหายจำเลยพูดว่า “เอาปืนมา” พวกของจำเลยก็ส่งอาวุธปืน(มีกระสุนปืนบรรจุอยู่ในลูกโม่ 6 นัด) ให้จำเลย แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายจำเลยย่อมมีความผิดฐานพาอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ,72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 นั้นเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยเพิ่งได้รับอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนบรรจุอยู่ในลูกโม่ 6 นัด จากพวกของจำเลยที่ส่งให้ในที่เกิดเหตุ แล้วจำเลยก็ใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเอง พวกของจำเลยจึงเป็นผู้มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและพาอาวุธปืนกระบอกดังกล่าวก่อนที่จะส่งให้จำเลย เมื่อพิจารณาถึงคำว่า “มี” ตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 4(6) ได้ให้คำนิยามไว้ว่าหมายความว่า มีกรรมสิทธิ์หรือมีไว้ในครอบครองดังนั้นการที่จำเลยบอกให้พวกส่งอาวุธปืนและพวกก็ส่งให้ แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนจ่อที่ศีรษะผู้เสียหายในทันทีทันใดนั้นเอง ซึ่งพวกของจำเลยก็ยังอยู่ที่เกิดเหตุนั้นด้วย พวกของจำเลยจึงยังคงควบคุมดูแลอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวอยู่อย่างใกล้ชิด หาใช่ว่าพวกของจำเลยได้มอบให้จำเลยครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยเป็นอิสระไม่ย่อมไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนนั้นเพราะจำเลยมิได้ยึดถืออาวุธปืนและกระสุนปืนเพื่อตนเองสิทธิครอบครองอาวุธปืนและกระสุนปืนยังคงอยู่กับพวกของจำเลยฉะนั้นจึงไม่เรียกว่าจำเลยมีอาวุธปืนและกระสุนปืนไว้ในครอบครองทั้งพฤติการณ์ของจำเลยตามข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้พาอาวุธปืนตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 จำเลยจึงมิได้กระทำผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองและฐานพาอาวุธปืนด้วยแม้จำเลยไม่ได้ฎีกาปัญหาว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตขึ้นมาแต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหานี้ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยส่วนที่ศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานพาอาวุธปืนนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องในข้อหาความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 72 วรรคแรก เสียด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share