แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้นให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลา และ ณ สถานที่ส่งมอบในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ซึ่งเป็นราคาประเมินของกรที่ดิน แม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดินในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท จำเลยก็รับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาและเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินไปทางทะเบียน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ให้ที่ดินกลับเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่โจทก์ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 38604 ตำบลชมพู อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างโจทก์กับจำเลยหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 7,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังได้ว่า ที่พิพาทเดิมเป็นของโจทก์และเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 8652 ต่อมาโจทก์ขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 38064 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์จดทะเบียนโอนขายให้จำเลยโดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาว่า มีเหตุเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่า โจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลย ไม่มีเจตนาขายที่พิพาท ไม่เคยมอบอำนาจให้โอนกรรมสิทธิ์และไม่เคยได้รับเงินค่าที่ดินจากจำเลย ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์กู้ยืมเงินจากจำเลยและมอบอำนาจให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทได้ในนามของตนเองหากโจทก์ผิดนัดตามหนังสือมอบอำนาจ แม้ทางนำสืบของโจทก์จำเลยได้ความว่า ลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจมีลักษณะของการเขียนเหมือนหรือคล้ายกับลายมือชื่อโจทก์ที่เคยลงลายมือชื่อไว้ในเอกสารต่างๆ ทั้งลีลาการเขียนชื่อและนามสกุลเหมือนกันอย่างชนิดแยกกันไม่ออก จึงฟังไม่ได้ว่าหนังสือมอบอำนาจเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในช่องผู้มอบอำนาจ อย่างไรก็ดีการที่จำเลยให้การและนำสืบรับคำให้การว่า นอกจากจำเลยมีอาชีพเป็นพยาบาลแล้ว จำเลยยังมีอาชีพปล่อยเงินกู้ โจทก์ขอกู้เงินจากจำเลยจำนวน 200,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ครบกำหนดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเสร็จสิ้นวันที่ 31 มกราคม 2541 โดยมีระยะเวลากู้ประมาณ 1 ปี ต่อมาโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยจึงนำหนังสือมอบอำนาจพร้อมโฉนดที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ตามข้อตกลงในสัญญากู้ยืมโดยจดทะเบียนโอนกันวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 และขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์ค้างชำระดอกเบี้ยอยู่ประมาณ 30,000 บาท นั้น เห็นว่า แม้หากจะฟังข้อเท็จจริงตามคำให้การและทางนำสืบของจำเลย แต่การกู้ยืมเงินโดยผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาที่ดินเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมเช่นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้เป็นอันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ให้ต้องคิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ จำเลยเบิกความว่าในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตีราคาที่ดิน 590,000 บาท ตามสัญญาซื้อขาย ราคาดังกล่าวเป็นราคาประเมินของกรมที่ดินแม้โจทก์จำเลยจะมิได้นำสืบถึงราคาซื้อขายในท้องตลาดที่แท้จริงซึ่งเป็นราคาที่ดินเป็นหลักในการคำนวณ ณ เวลาที่ส่งมอบ แต่ก็เห็นได้ว่าราคาประเมินในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของกรมที่ดิน ในเบื้องต้นพอจะอนุมานได้ว่าน่าจะใกล้เคียงกับราคาท้องตลาดและไม่แตกต่างกันมาก เว้นแต่จะมีเหตุผลพิเศษสำหรับที่ดินบางแปลงเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น ราคาที่ดินพิพาทขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์จึงสูงกว่าภาระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระตามที่จำเลยอ้าง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 230,000 บาท เป็นจำนวนมาก จำเลยก็เบิกความรับว่ามีส่วนต่างอยู่ประมาณ 300,000 บาท ดังนี้ ความตกลงดังกล่าวย่อมตกเป็นโฆมะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคท้าย ศาลฎีกาเห็นว่า ปัญหาด้งกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้กู้และทำให้ผู้ให้กู้ได้เปรียบในทางทรัพย์สินเงินทอง แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา และเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากันมาโดยชอบในสองศาลล่าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 เมื่อการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ จำเลยจึงไม่ได้ที่ดินพิพาทไปทางทะเบียน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฏีกาให้เป็นพับ